ดอกไม้กินได้ อาหารต้านโรค-เพิ่มการไหลเวียนโลหิต เลือกใช้ให้ถูกชนิดทดแทนผักได้

ปรับโหมดจากการปักแจกันสู่เมนูเพื่อสุขภาพ สำหรับ “ดอกไม้” ที่มีสรรพคุณรอบด้าน ที่นอกจากให้ความสวยงามสบายตา และกลิ่นหอมชื่นใจ แก่ผู้พบเห็นแล้ว ยังสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยลดโรคได้ เช่น โรคความดันโลหิต บำรุงหัวใจ อีกทั้งช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น และช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย เช่น ดอกไม้กินได้ที่อยู่ในกลุ่มของไม้ประดับ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ซึ่งช่วยดับพิษร้อนระบบภายใน ทั้งนี้เพื่อให้คนรักสุขภาพบริโภคดอกไม้ในแต่ละกลุ่ม แทนทดการกินผักได้อย่างปลอดภัยนั้น
The Reporters ได้สอบถามไปยัง “คุณหมอต้อม-ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร” เลขาธิการ มูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้กินได้ ที่สามารถจัดเป็นแต่ละหมวดหมู่ ได้แก่ กลุ่มไม้ประดับ,กลุ่มไม้ดอกจากพืชตระกูลถั่ว,กลุ่มไม้ดอกจากพืชตระกูลเซี้ยว,กลุ่มดอกไม้จากผักพื้นบ้าน และกลุ่มดอกไม้จากพืชตระกูลขิงข่า ที่ให้สรรพคุณในการป้องกันโรค ที่แตกต่างกันไป โดยปรุงเป็นเมนูที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนการกินผัก ช่วยป้องกันโรคและปรับสมดุลร่างกายไปด้วยในตัว พร้อมกันนี้ได้ให้เทคนิค การบริโภคอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ให้ข้อมูลว่า “ดอกไม้ที่กินได้นั้น มีอยู่ในหลายหมวดหมู่ เริ่มจาก “พืชตระกูลถั่ว” เช่น ดอกโสน ที่นำไปชุบแป้งทอด และทำขนมดอกโสน และดอกอัญชัน ที่สามารถรับประทานได้ ทั้งแบบดอกสดจิ้มกับน้ำพริก หรือ นำไปต้มเป็นน้ำดอกอัญชัญ ที่สำคัญมีสรรพคุณช่วยเพิ่ม การไหลเวียนโลหิตได้ดี โดยเฉพาะในหลอดเลือดขนาดเล็ก ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดว่า ไม่ควรรับประทานทั้งดอกอัญชันสด หรือ ต้มดื่มต่อครั้งเกินครั้งละ 20 ดอก เพราะหากเกินกว่านี้ จะทำให้บริโภคดอกอัญชัน ในปริมาณที่เข้มข้นมากเกินไป และส่งผลให้การไหลเวียนของโลหิต ในหลอดเลือดขนาดเล็ก ทำงานได้ดีมากเกินไป ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกในบางจุด หรือเวลาที่มีแผลเลือดจะออกมากกว่าปกติ ”
นอกจากนี้ดอกไม้จาก “พืชตระกูลขิงข่า” ได้แก่ ดอกกระเจียว,ดอกข่า,ดอกดาหลา สามารถบริโภคเป็นผักสดหรือผักต้ม จิ้มกับน้ำพริกและผักแกล้ม กับเมนูยำหรือลาบต่างๆ ที่มีสรรพคุณในการช่วยย่อย และเพิ่มการไหลเวียนโลหิตได้ดีเช่นกัน เนื่องมีฤทธิ์ร้อน
ขณะที่ดอกไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาเย็นที่พบได้ใน “พืชตระกูลเสี้ยว” จะช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ทั้งนี้จะมีจุดเด่นคือ มีลักษณะใบที่หยัก เช่น ดอกกาหลง และดอกเสี้ยว ก็สามารถกินได้ โดยนำดอกเสี้ยวมาทำเป็นเมนูยำ หรือ ใส่ในต้มซุบ เป็นต้น
ทั้งนี้ดอกไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ยังพบได้ในกลุ่มของ “พืชตระกลูไม้ประดับ” เช่น ดอกพวงชมพู ที่นำมาทำเมนูยำ และสลัดโรล,ดอกบานเย็น ,ดอกชบา,ดอกเข็ม ที่สามารถรับประทานได้ทั้งดอกสดและชุบแป้งทอด,ดอกค้างคาวดำ (ดอกเหมือนค้างคาว),ดอกดาวเรือง ที่นำมาทำชาดอกดาวเรือง,ดอกคุณนายตื่นสาย ให้นำดอกสดมาขยี้และชงในน้ำร้อน เพื่อดื่มเป็นชาดอกคุณนายตื่นสาย ที่ให้สีชมพูสวยงาม ,ดอกเก็กฮวย ที่ดื่มเป็นชาดอกเก๊กฮวย,ดอกสายน้ำผึ้ง ที่สามารถนำทั้งดอกสดและดอกแห้มาชงดื่ม ,ดอกหมากผู้หมากเมีย ก็มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อนให้ร่างกายได้อีกด้วย,ดอกซ่อนกลิ่น สามารถนำตกแต่งจาน และสามารถรับประทานทั้งดอกสดได้ ที่สำคัญมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่อยู่ในกลุ่มยาหอมบำรุงหัวใจ,ดอกเฟื่องฟ้า ที่นิยมนำมาชุบแป้งทอด ยำ ส้มตำ และ ดอกแววมยุรา ที่นำไปปรุงเป็นเมนูยำต่างๆ ก็มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ เช่นกัน
“สำหรับดอกไม้ใน “ตระกูลไม้ประดับ” ที่มีฤทธิ์อุ่น อย่าง ดอกลีลาวดี ที่นำมาชุบแป้งทอด และดอกทานตะวัน ที่นำดอกตูมมาจิ้มน้ำพริก พูดง่ายๆว่าดอกไม้ประดับในกลุ่มที่มียาง จะมีสรรพคุณเป็นฤทธิ์อุ่น ก็สามารถเพิ่มการไหลเวียนโลหิตได้ดีไม่แพ้กัน”
ในส่วนของดอกไม้ จาก “ตระกูลผักพื้นบ้าน” เช่น ดอกผักกุ่ม นำดอกผักกุ่มไปดอง และรับประทาน ,ดอกขี้เหล็ก ใช้สำหรับทำแกงดอกขี้เหล็ก,ดอกสะเดา นำไปจิ้มน้ำพริกต่างๆ,ดอกแคบ้าน สำหรับทำเมนูแกงส้มดอกแค,ดอกแคป่า นำมาต้มและผัดใส่หอมทุบ จิ้มกับน้ำพริก, ดอกผักคราดหัวแหวน ที่สามารกินสดและนำไปใส่ในแกงแค ซึ่งเป็นแกงของทางภาคเหนือ,ดอกกะเพรา,ดอกใบแมงลัก,ดอกใบโหระพา,ดอกโคกกระสุน ซึ่งทั้งหมดก็มีทั้งสรรพคุณช่วยย่อย และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รวมถึง ดอกกระเจี๊ยบแดง (ฐานหรือกลีบเลี้ยง ดอกกระเจี๊ยบแดง นำไปทำแกงส้ม) ที่สามารถกินสด แทนผักสด หรือเป็นผักแกล้มเมนูต่างๆ ก็มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน
ลองเปลี่ยนจากการบริโภคผักผลไม้ ที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหาร ซึ่งทำให้ระบบย่อยทำงานได้ดี มาเป็นเมนูจากดอกไม้ เพื่อช่วยให้สุขภาพดี อีกช่วยทั้งเพิ่มสีสันให้มื้ออาหาร และต้านโรคไปด้วยกันนะคะ