HEALTH

แอสตร้าเซนเนก้า สานต่อกิจกรรม Girls Take Over ส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียม

แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ร่วมกับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สานต่อกิจกรรม #GirlsTakeOver ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ในเด็กและเยาวชน หรือ Young Health Programme (YHP) ประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กหญิงสากล (International Day of the Girl Child) เพื่อส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ของเด็กผู้หญิง ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวฯ ได้ดำเนินพร้อมกัน ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปี

พร้อมกันนี้ได้จับมือกับ 4 องค์กรชั้นนำ อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน,สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และกรุงเทพมหานคร ในการเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงอายุ 16-22 ปี จำนวน 8 คน จาก 5 โรงเรียน และ 3 มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกิจกรรมเวิร์กชอป และแสดงศักยภาพในการทดลอง สวมบทบาทสมมุติการทำงาน ในสถานการณ์จำลองของแต่ละองค์กร ผ่านกรณีศึกษาต่างๆ พร้อมแลกเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสังคม ในแง่มุมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีมที่ดี ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กผู้หญิง ให้ต่อยอดไปสู่การเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ และสร้างความเสมอภาค ระหว่างเพศในสังคมต่อไป

นายโรมัน รามอส ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “แอสตร้าเซนเนก้า มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ในการผลักดันนโยบาย ด้านความหลากหลายและเท่าเทียม รวมไปถึงการส่งเสริมการยอมรับในความแตกต่าง และการมีส่วนร่วม (Inclusion & Diversity) ของทุกคนในสังคม รวมถึงเยาวชน ซึ่งกิจกรรม #GirlsTakeOver ในครั้งนี้ มีส่วนช่วยในการส่งเสริม และผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ ให้แก่เด็กผู้หญิง ผ่านการสร้างสถานการณ์ และจำลองสภาพแวดล้อมในบทบาทการเป็นผู้นำ โดยในครั้งนี้เราได้ผนึกกำลังกับองค์กรชั้นนำ ที่มีผู้บริหารมากความสามารถ จากหลากหลายแวดวง เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ และทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ในโลกการทำงาน ที่แตกต่างกันจากผู้มีประสบการณ์จริง ซึ่งเราเชื่อว่ากิจกรรมในวันนี้จะมอบประสบการณ์ที่ดี พร้อมก่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจ แก่เด็กและเยาวชนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของสังคมในอนาคต”

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กหญิงสากล เพื่อตระหนักถึงสิทธิของเด็กผู้หญิง และความท้าทายในประเด็นต่างๆ ที่เด็กผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติ การใช้ความรุนแรง การเสียชีวิตหรือเกิดความเสี่ยง จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงต่อความพิการ การคลอดบุตรก่อนกำหนด การถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร อีกทั้งเด็กหญิงและสตรี มักจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ด้านภาระทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผู้หญิงมักมีแนวโน้มที่จะต้องออกจากงานประจำ หรือโรงเรียนเพื่อมาดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านสาธารณสุข และการศึกษาที่เด็กหญิงและสตรี ไม่ได้รับความเสมอภาคเท่ากับเพศชาย

ดร. รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อมั่นในพลังของเด็กหญิง และเยาวชนหญิง สิ่งสำคัญ คือ การเสริมพลังและพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ รวมถึงเปิดเวทีให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น ให้พวกเขาได้อยู่แถวหน้าและร่วมตัดสินใจ ในเรื่องที่มีผลกระทบกับเขา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในการเป็นผู้นำในทุกระดับในอนาคต”

ด้านนางสาวสุชนา สินธวถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า “depa มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญระดับสากลนี้ โดยเรามีภารกิจในการส่งเสริม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ และในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้บริหารหญิง จึงขอใช้โอกาสนี้ในการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่ เยาวชนหญิง ได้จำลองบทบาทการเป็นผู้บริหาร ผ่านกิจกรรม #GirlsTakeOver ในครั้งนี้”

“ซึ่งเราเชื่อว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และความพร้อมให้แก่เยาวชนหญิง ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในอนาคตได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแคมเปญดังกล่าว จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างความตระหนักในวงกว้าง และส่งผ่านแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น จากผู้น้อยไปสู่ผู้นำ จากผู้ทำตามไปสู่ผู้ริเริ่มด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งระดับประเทศและระดับสากลต่อไป”

นางแอนนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน กล่าวว่า “การส่งเสริมสิทธิเด็กและสตรี ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลสวีเดนให้ความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง การเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิง ได้ทดลองสวมบทบาทการเป็นผู้นำ และแสดงตัวตนให้ผู้อื่นได้รับรู้ นับเป็นอีกก้าวที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจะนำไปสู่โลกที่เท่าเทียม รวมถึงยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม ทั้งนี้ทางสถานทูตรู้สึกยินดี ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม Girls Take Over ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองและสามารถกำหนดแนวทางในชีวิต และในระดับสังคมต่อไปในอนาคต”

นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ กล่าวว่า “สหราชอาณาจักรทุ่มเท ที่จะสร้างการมีส่วนร่วมกับสตรีและเด็กหญิง รวมทั้งสร้างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจสู่พวกเธอ ที่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง และผู้นำในอนาคต กิจกรรม Girls Take Over เป็นโอกาสอันดีที่ทางสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ได้ร่วมมือกับบริษัทของสหราชอาณาจักร อย่าง แอสตร้าเซนเนก้าเพื่อสื่อสาร กับอนาคตผู้นำสตรีของไทย รวมถึงทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของไทย จัดงานเวิร์คชอปทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร-ไทยในด้านการศึกษาจีโนม และการพัฒนาวัคซีนอีกด้วย เรายินดีที่ได้ร่วมงานส่งเสริมประเด็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ และการเสริมสร้างบทบาทของสตรี อันเป็นสองสิ่งที่สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญไปทั่วโลก”

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ในฐานะกรุงเทพมหานคร เราเห็นความตั้งใจของเยาวชน ที่เลือกมาศึกษางานจากหน่วยงานระดับท้องถิ่น เนื่องจากการจัดกิจกรรมประเภทนี้ เข้าถึงหน่วยงานระดับท้องถิ่นน้อยมาก ซึ่งการมอบโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้ เข้ามาเรียนรู้งาน จะทำให้พวกเขาได้รับความรู้ และความเข้าใจในงานของท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และยังถือเป็นโอกาสให้เรา ได้เป็นตัวแทนของหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศ นอกจากนี้กิจกรรม #GirlsTakeover2023 ยังแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้หญิง สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้โดยไร้ข้อจำกัด เช่น เป็นนักผจญเพลิง หรือเป็นแพทย์”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat