กรมอนามัย ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฤดูร้อนปีนี้อุณหภูมิอาจสูงถึง 43 องศา
ภาคเหนือระวังอันตรายจากอากาศร้อน-พื้นที่อุณหภูมิสูงเกิน 43 องศา งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
วันนี้ (7 มี.ค. 66) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกคำเตือนประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่าอุณหภูมิปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว หรือสูงสุดถึง 43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ จึงเน้นย้ำให้ประชาชน และกลุ่มเสี่ยงป้องกันดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคที่มากับหน้าร้อน ได้แก่ ศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นตะคริวจากความร้อน และโรคฮีทสโตรก ทั้งนี้หากพบอุณหภูมิสูงเกิน 43 องศาเซลเซียส เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า “ตามที่ กรมอนามัย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกันเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัย ความร้อนแก่ประชาชน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าบริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงต้นฤดูร้อนจะมีอากาศร้อน ในตอนกลางวันหลายพื้นที่ แต่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า และในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน อากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ คาดการณ์อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 40-43 องศาเซลเซียส ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วง ประกอบกับมีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งฤดูร้อนจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566”
“กรมอนามัยให้ความสำคัญ กับการดูแลและป้องกันสุขภาพของประชาชน จึงร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาดำเนินการเฝ้าระวัง และสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพในช่วงฤดูร้อน รวมทั้งเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมการป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนด้วยอนามัยโพล เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจะก่อให้เกิดอากา รเจ็บป่วยจากความร้อน ตั้งแต่อาการเล็กน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นตะคริวจากความร้อน มีผื่นแดงตามผิวหนัง หรืออาจมีอาการรุนแรงจนเป็นโรคฮีทสโตรก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์”
ผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้ง เช่น งานก่อสร้าง เกษตรกรกรมอนามัย จึงขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงกลางวัน หรือช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์
“ทั้งนี้หากอุณหภูมิสูงสุดขึ้นไปที่ 43 องศาเซลเซียส ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหมั่นสังเกตอาการเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก ได้แก่ เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงง ตัวร้อนจัด ผิวหนังเป็นสีแดงและแห้ง โดยหากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ให้รีบตามแพทย์ หรือโทร 1669 และพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องมีความเย็น จัดผู้ป่วยให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง รวมถึงถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว หรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ”
“หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคง เพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้สามารถรับคำแนะนำ ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนได้ที่เว็บไซต์กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และ Facebook กรมอนามัย และกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว