รณรงค์ส่งกำลังใจให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง สร้างความตระหนักรู้และรับมือโรคร้าย
วันนี้ (6 มิ.ย. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย เดือน มิถุนายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ ส่งกำลังใจให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง โดยวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนทุกปี ถือเป็นวันผู้รอดชีวิตจากมะเร็งที่นานาชาติทั่วโลก จะร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง ให้กับผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง เป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจ ให้กับผู้ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัย เป็นแรงสนับสนุนให้กับครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อส่งแรงกระเพื่อมไปถึงสังคมให้รับรู้ และตระหนักถึงสิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็ง และครอบครัวต้องเผชิญ พร้อมแนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง (survivorship) เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ เช่น เข้ารับการตรวจติดตาม การรักษาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย
นายแพทย์วีรวุฒิ กล่าวว่า “ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่สำคัญของประเทศไทย สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าในปี 2561 คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ วันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี ทั้งนี้พบผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้น จากสถิติประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้รอดชีวิตจากประมาณ 3 ล้านคนในปี 2514 เพิ่มเป็น 18 ล้านคนในปี 2565 อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยที่เกิน 5 ปีขึ้นไป สูงขึ้นจาก 49% เป็น 68% อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยที่เกิน 20 ปีขึ้นไปถึง 18% และอัตราเสียชีวิตลดลงถึง 33% ซึ่งเป็นผลมาจากเทคนิคการรักษา ที่พัฒนาขึ้นตลอดเวลา การตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงง่าย การได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งบางชนิด การรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ”
ด้าน นายแพทย์ สาริศ อารยะพงษ์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า “นิยามของผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง (cancer survivor) หมายรวมถึง ผู้ป่วยทุกคนที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบแล้วเป็นเวลาหลายปี หลังสิ้นสุดการรักษา ผู้ป่วยระยะลุกลามที่กำลังรักษา และควบคุมโรคให้สงบได้นาน และผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำ”
“สำหรับข้อแนะนำและแนวทางการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง (survivorship) เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ได้แก่ เข้ารับการตรวจติดตาม การรักษาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย กินอาหารมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ปรุงสุกใหม่ถูกหลักอนามัย เน้นอาหารกากใยสูง อาทิ ผัก ผลไม้ รับประทานเนื้อสัตว์และโปรตีน ให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ลดอาหารประเภทเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารหวาน เค็ม มัน”
“หลีกเลี่ยงมลพิษและสารก่อมะเร็ง งดเว้นการสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่ แร่ใยหิน งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงตากแดดจ้า ออกกำลังกายให้เหมาะสมสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และเข้ารับการตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้กับผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม การเงิน ตลอดจนสุขภาพทางเพศ จึงต้องอาศัยทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมกันดูแล เนื่องจากปัญหาที่พบบ่อย มักมีสาเหตุจากผลข้างเคียง ระยะยาวจากตัวโรคและวิธีการรักษา”
“โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาหายได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทุกราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้น การคัดกรองโรคมะเร็ง และการตรวจร่างกายเป็นประจำจึงมีความสำคัญ การตรวจให้พบเจอตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงช่วยเพิ่มโอกาสรักษาหายสูง รวมถึงมะเร็งบางชนิด สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus),วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ท้ายนี้ขอส่งกำลังใจให้ผู้รอดชีวิต จากโรคมะเร็งทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สติ และจิตใจที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงความเชื่อมั่นในแพทย์ผู้รักษา และกำลังใจจากคนรอบตัวและครอบครัว สามารถติดตามข่าวสาร ความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง”