HEALTH

แพทย์ระบบสมอง เตือน “นอนกรน” ภัยเงียบทำหยุดหายใจชั่วขณะ เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัย

เป็นที่พูดกันมากขึ้น สำหรับอาการ “นอนกรน” ที่มักเกิดขึ้นได้ในช่วงหน้าหนาวอากาศแห้ง ซึ่งนอกจากทำให้คนรอบข้างนอนไม่หลับแล้ว ยังเสี่ยงต่อการหยุดหายใจชั่วขณะ นำมาซึ่งการเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้นการป้องกันตัวเอง และการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหานอนกรน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินชีวิต ล่าสุด “นพ.ชยานุชิต ชยางศุ” แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบสมอง ศูนย์โรคระบบสมอง รพ.นวเวช มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการนอนกรน ไว้น่าสนใจ เพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เพราะหากไปพบแพทย์เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันการเสียชีวิต จากภาวะนอนกรน ที่นำมาสู่การหยุดหายใจชั่วขณะได้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประจำได้เช่นกัน

นพ.ชยานุชิต กล่าวว่า “การนอนกรน” คือการที่เกิดการหย่อนของกล้ามเนื้อในช่องคอ (โคนลิ้น เพดานอ่อน) ซึ่งจะคลายตัวในขณะหลับ จนส่งผลให้ลมที่ผ่านบริเวณที่ตีบแคบ เกิดเป็นเสียงที่ดังขึ้นจนรบกวนคนที่อยู่รอบข้างได้ ดังนั้นวิธีรักษาถ้าเป็นการนอนกรนธรรมดา (simple snoring) ไม่มีการหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) การลดน้ำหนัก หรือเปลี่ยนท่านอนเป็นนอนตะแคง ลดการดื่ม alcohol โดยเฉพาะใกล้เวลาที่นอนหลับ จะพอช่วยบรรเทาการนอนกรนได้ แต่ถ้ามีการหยุดหายใจขณะหลับ ต้องรักษาโดยการใส่เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ CPAP continuous positive airway pressure”

“ส่วนอันตรายจากการนอนกรน ในกรณีที่กรนมากๆ จะเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งส่งผลให้มีการตื่นของสมอง แต่มักจะเป็นการตื่นสั้นมากๆ หรือครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่ถึงกับรู้ตัวเต็มที่ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ เพราะเกิดการหลับตื่นสลับกันไปตลอดคืน ในคนที่เป็นมากๆ สมมติว่ามีการหยุดหายใจทุก 2 นาที ถ้านอนหลับ 8 ชั่วโมงเท่ากับมีช่วงที่หลับจริงๆแค่ 4 ชั่วโมง ส่งผลให้ตื่นมาไม่สดชื่น อีกทั้งช่วงสายๆบ่ายๆมีอาการง่วงจนต้องงีบหลับ บางคนมีความดันโลหิตสูง, ปวดศีรษะหลังตื่นนอน, มีปัญหาเรื่องสมาธิ ความจำได้

ทั้งนี้การนอนกรนเกิดได้ทุกวัย ในเด็กก็เป็นได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดในวัยกลางคน เพศชาย โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักมาก แต่ในคนที่ผอมก็เกิดได้เช่นกัน และปัจจัยหนึ่งอย่างในช่วงหน้าหนาว อากาศแห้ง ส่งผลให้ทางเดินหายใจแห้งด้วย ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคนเป็นภูมิแพ้ โพรงจมูกบวม คัดจมูก ยิ่งส่งผลให้เกิดการกรนมากขึ้น

ส่วนวิธีรับมือนั้น แนะนำให้ขยับท่านอนของคนที่กรน ให้เป็นท่านอนตะแคง หรืออาจจะต้องใช้ ear plug ช่วยลดเสียงรบกวน และที่สำคัญที่สุดการกระตุ้น ให้มาตรวจการนอนหลับ เพื่อตรวจหาว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ เพื่อทำการรักษาต่อไปเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนกรน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat