HEALTH

แพทย์จุฬาฯ เผย 4 โรคหูที่ไม่ควรมองข้าม ผิดปกติต้องรีบพบแพทย์

แพทย์จุฬาฯ เผย สถิติปี 63 พบมีผู้บกพร่องทางการได้ยินถึง 391,785 คน และมีคนไทยจำนวนมากป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหู ทั้งที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ และที่มีเหตุจากการสัมผัสเสียงดังต่อเนื่อง พฤติกรรม อารมณ์ ความเครียด หรือสภาพแวดล้อมที่อาจหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ หากมีอาการผิดปกติในการได้ยินแล้ว ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางหู ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “หู” เป็นอวัยวะสำคัญ มีหน้าที่หลักในการได้ยินเสียงและการทรงตัวของร่างกายหากการทำงานของหูผิดปกติย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บั่นทอนคุณภาพชีวิตทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล จิตตก ท้อแท้ โดยผู้ป่วยโรคทางหูที่มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีอาการที่แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีปัญหาได้ยินลดลง ซึ่งอาจเกิดจากรูหูตีบ แก้วหูทะลุ ติดเชื้อในหู ฯลฯ และกลุ่มที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว บ้านหมุน เวียนหัว ซึ่งทั้ง 2 อาการเป็นสิ่งบ่งขี้โรคทางหูที่มักพบบ่อย 4 โรค ได้แก่

  1. การสูญเสียการได้ยินแบบประสาทหูเสื่อม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับการได้ยินลดลง ส่วนหนึ่งเป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัยและยากที่จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม เกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทหูชั้นในทำให้การได้ยินลดลง และบางรายอาจมีอาการเสียงรบกวนในหู (Tinnitus) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสียงไม่มีความหมาย เช่นเสียงวี๊ด เสียงซ่า และมีทั้งได้ยินเป็นครั้งคราว และได้ยินตลอดเวลา
    “ในเวลาที่มีความเครียด เหนื่อย พักผ่อนน้อย หรืออยู่ในที่เงียบๆ เช่น เวลานอน อาจจะทำให้เสียงรบกวนในหูดังเพิ่มขึ้น”
    “นอกจากนี้ยังมีเสียงดังในหูอีกแบบหนึ่งซึ่งดังเป็นจังหวะและบุคคลรอบข้างอาจได้ยินหรือตรวจพบเสียงรบกวนด้วย ได้แก่ เสียงดังในหูตามจังหวะชีพจรซึ่งเกิดจากโรค ที่เกี่ยวกับเส้นเลือด หรือเสียงที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหูมีการกระตุก ซึ่งผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจรักษา”
  2. น้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากการที่ร่างกายสร้างน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติหรือมีการระบายน้ำ ในหูได้น้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นเวลา 20 นาทีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง และมีอาการบ้านหมุนมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป มีระดับการได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นโรค
  3. ตะกอนหินปูนในหูหลุด เกิดจากผลึกหินปูนในหูชั้นใน มีการเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้เวลาที่เราเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่างๆ หินปูนที่หลุดออกมาจะกลิ้งไปตามการขยับของศีรษะ ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนสัมพันธ์กับการขยับศีรษะ ระยะเวลาในการเกิดอาการบ้านหมุนส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที
  4. ประสาทหูดับฉับพลัน มักจะเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่ง ที่ได้ยินเสียงเบาลงทันทีในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดเส้นเล็กๆ ที่ไปเลี้ยงที่หูหรือเกิดจากไวรัสโจมตีเส้นประสาทเกี่ยวกับการได้ยิน ผู้ที่ประสาทหูดับฉับพลันมีโอกาสหายได้ถ้ามา พบแพทย์โรคหูและได้รับการรักษาในเวลาที่รวดเร็ว

สำหรับขั้นตอนการรักษา ผศ.พญ.ภาณินี อธิบายว่า แนวทางการรักษาแตกต่างกันไปขึ้นกับโรคของผู้ป่วย เช่น การรักษาผู้ป่วยประสาทหูดับฉับพลันคือการให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยากิน การฉีดยาเข้าเส้นเลือดหรือฉีดเข้าไในหู จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้ยินให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียง การรักษาทางเลือกเสริมซึ่งมีให้บริการในโรงพยาบาลบางแห่งคือการใช้ตู้อัดแรงดันออกซิเจน 100% (Hyperbaric Oxygen Therapy) หากเริ่มรู้ตัวว่ามีปัญหาการได้ยินลดลงหรือมีเสียงรบกวนในหู ควรรีบมาพบแพทย์

ส่วนการรักษาผู้ที่ประสาทหูเสื่อมมีความสามารถได้ยินเสียงลดลงแต่ยังไม่ถึงขั้นหูหนวก สิ่งที่ช่วยได้คือเครื่องช่วยฟังซึ่งทำหน้าที่เหมือนลำโพงที่รับเสียงเข้ามาแล้วขยายพลังงานเสียงเข้าไปในหูชั้นในได้มากขึ้น ถ้าประสาทหูเสื่อมและมีเสียงรบกวนในหูด้วย การใส่เครื่องช่วยฟังจะทำให้เสียงรบกวนลดลงได้ โดยจะมีหลายราคา ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน นอกจากนี้ยังมีเครื่องช่วยฟังที่ฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ และการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมสำหรับผู้ที่หูหนวก 2 ข้าง ทำให้สามารถกลับมาได้ยินเสียงได้อีกครั้ง

ผศ.พญ.ภาณินีกล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยเรื่องเสียงรบกวนในหูว่ามีผลกระทบทำให้คนไข้เกิดอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด โดยศึกษาวิจัยในกลุ่มคนไข้โรคหูที่มารับการรักษาที่ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชั้น 10 อาคาร ภปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

“ผลการวิจัยจะช่วยทำให้เราสามารถแนะนำคนไข้ได้ว่าเมื่อมีความวิตกกังวลและความเครียดจากเสียงดังในหู ควรจะได้รับการดูแลอย่างไร เป็นการยกระดับการดูแลคนไข้ให้ครอบคลุมมากขึ้น” ผศ.พญ.ภาณินี กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า “การดูแลคนไข้ ไม่ใช่แค่การตรวจรักษาและสั่งยาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการอธิบายให้คนไข้รู้ถึงอาการป่วย การดำเนินของโรค และแนวทางการรักษา เพื่อให้คนไข้มีความเข้าใจ ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ผศ.พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางหู

Related Posts

Send this to a friend