HEALTH

แพทย์ เผย การทำศัลยกรรมหน้าอก ไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง จากข้อมูลปี 2563 พบว่าในประเทศไทยมีหญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี โดยคาดการณ์ว่าปี 2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี และกลับมาอยู่ในความสนใจของคนอีกครั้งเมื่อเกิดข่าวเศร้าการจากไปของนุ๊กซี่-อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ อินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดัง คนรักของ ปู แบล็คเฮด ที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบเมื่อต้นปี 2564

สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านม ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย และดื่มสุรา รวมถึงบางปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้นแต่คำถามหนึ่งที่ผู้หญิงหลายๆคนสงสัยคือการศัลยกรรมทรวงอกมีผลกับโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่และผู้หญิงควรดูแลอย่างไรให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม

นายแพทน์นครินทร์ สาลีทอง หรือหมอป้าง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมตกแต่ง (certified board of General surgery, certified board of Plastic & Reconstructive surgery) ประจำศูนย์ความงาม รพ. พญาไท 2 ซึ่งมีประสบการณ์ในการผ่าตัดศัลยกรรมหน้าอก และความงามกว่า 10 ปี และมีผู้รับบริการมากกว่า 10,000 เคส ยืนยันว่า การทำศัลยกรรมหน้าอกไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามพบว่า ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านม สัมพันธ์กับการใช้ซิลิโคนผิวทรายหยาบบางชนิดและบางยี่ห้อ ซึ่งแม้จะมีอัตราการเกิดไม่สูง แต่เมื่อพบความสัมพันธ์ ก็ได้มีการยกเลิกการใช้ซิลิโคนแบบนั้นไปแล้ว

“สำหรับผู้รับการเสริมหน้าอกมาก่อนหน้านี้ในระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป และสามารถจำยี่ห้อ หรือชนิดของซิลิโคนที่ใช้ได้ ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความปลอดภัยได้ แต่หากจำไม่ได้หรือไม่สบายใจก็สามารถพิจารณาการเปลี่ยนซิลิโคนรุ่นใหม่ๆ โดยในปัจจุบัน ชนิดของซิลิโคนที่แพทย์ใช้ถือได้ว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะซิลิโคนผิวเรียบ ส่วนซิลิโคนผิวทรายที่ใช้ในปัจจุบันก็ถือได้ว่าค่อนข้างปลอดภัยเนื่องจากเป็นผิวทรายที่ละเอียด โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติให้สามารถใช้ได้ทั้งสองชนิด อย่างไรก็ตาม หมอแนะนำให้เลือกใช้แบรนด์ที่มีมาตรฐานผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา และ WHO” นายแพทย์นครินทร์ กล่าว

พร้อมกันนี้ นายแพทย์นครินทร์ ยังย้ำว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง การตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรทำ โดยเฉพาะเมื่อมีอายุ 40 ปี ขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแมมโมแกรม และอัลตร้าซาวด์เป็นประจำ หรือหากญาติสายตรงหรือคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมยิ่งควรต้องเข้ารับการตรวจสม่ำเสมอ และหากพบความผิดปกติ  อาจตรวจเพิ่มเติมหรือบ่อยขึ้น  ขึ้นกับแพทย์วินิจฉัยและเห็นว่าเหมาะสมในแต่ละราย โดยผู้ที่ทำศัลยกรรมหน้าอกสามารถเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมได้ตามปกติ และซิลิโคนที่ใช้ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด ไม่ว่าจะขนาดเท่าใดก็ตาม เพราะขนาดไม่มีผลกับการตรวจ และไม่มีผลกับความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

อย่างไรก็ตาม แม้การเสริมหน้าอกไม่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม แต่นายแพทย์นครินทร์ แนะนำว่า ผู้ที่กำลังพิจารณาการทำศัลยกรรมหน้าอก ควรศึกษาถึงข้อดี ข้อเสีย และภาวะไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการศัลยกรรมร่วมด้วยก่อนการตัดสินใจ และที่สำคัญคือควรเลือกสถานบริการ หรือสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ เพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับการบริการที่ดี และหรือหากเกิดมีภาวะไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัด ก็สามารถแก้ไข รักษาให้ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที โดยผู้รับบริการสามารถเช็ครายชื่อแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาได้ที่ www.thprs.org หรือ สืบค้นด้วยคำว่า “รายชื่อแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งแห่งประเทศไทย”

นายแพทย์นครินทร์ แนะนำว่า แม้มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆของประชากรหญิงไทย  แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเสริมหน้าอกหรือไม่ ก็ควรมีการตรวจคัดกรองเป็นประจำ และหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น มีก้อน ผิวหนังที่เต้านมสีผิดแปลกไป มีน้ำนมไหลผิดปกติ หรือมีรูปร่างเต้านมผิดปกติไป ควรรีบมาทำการตรวจรักษาเพื่อหากพบความผิด อาจรักษาได้อย่างถูกต้อง และหายขาดเพื่อคุณภาพชีวิตและการมีอายุที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat