กรมการแพทย์ เตือน โรคต้อหินภัยเงียบเสี่ยงสูญเสียการมองเห็น
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกับ นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เตือนภัยโรคต้อหิน ที่เสี่ยงต่อการสูญเสียอย่างถาวร โดยเฉพาะในคนไทยที่อายุมากกว่า 50 ปี ที่พบโรคต้อหินได้ถึงร้อยละ 5 พร้อมกันนี้ได้แนะนำการตรวจตาและการมองเห็น ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้สามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นของตนเองได้ และหากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต้อหิน ให้เข้ารับการตรวจตาเพื่อพบโรคได้แต่ระยะแรก และทำการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของโรค พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาเกินจริง อย่างการกินอาหารเสริมหรือการนวดตา เพื่อรักษาโรคต้อหิน เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด
นายแพทย์ไพโรจน์ เปิดเผยว่า “การดูแลสุขภาพดวงตาและการตรวจการมองเห็น ด้วยตัวเองเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญ ซึ่งหากพบความผิดปกติ และเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขทางจักษุ และตรวจพบโรคแต่ระยะแรก ก็สามารถรักษาและป้องกัน การสูญเสียการมองเห็นได้ การคัดกรองโรคตาจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นต้อหิน ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางตา ผู้มีสายตาสั้นมาก สายตายาวมาก ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ควรได้รับการตรวจสายตาและวินิจฉัยโดยทีมจักษุสาธารณสุข”
นายแพทย์อาคม กล่าวว่า “ต้อหินเป็นโรคความเสื่อมของประสาทตา ที่แทบไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น ต่อเมื่อโรคดำเนินไปจนระยะท้าย ทำให้สูญเสียลานสายตาและการมองเห็นได้ การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพตา และการได้รับการวินิจฉัยโรค รวมถึงการติดตามอาการและการรักษาอย่างทันท่วงที จะสามารถชะลอโรคและรักษาการมองเห็นไว้ได้”
ด้านแพทย์หญิงกุลวรรณ โรจนเนืองนิตย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ จักษุแพทย์ด้านต้อหิน กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากโรคต้อหินแทบไม่มีอาการแสดงในระยะต้น เลยจนเมื่อโรคดำเนินไปจนสุดทางจึงมีอาการเช่นมุมมองของภาพแคบลง และมีการสูญเสียการมองเห็นในระยะสุดท้าย การเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคตาในคนไทย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่ต้องการการพัฒนาและจัดสรรในระบบจักษุสาธารณสุขต่อไป เพื่อให้การคัดกรองโรคตาต่างๆ เช่นโรคต้อหินมีความเป็นไปได้
“สำหรับโรคต้อหินแบ่งตามกายวิภาคตา ได้เป็นต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิด และหากแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรคได้เป็นต้อหินปฐมภูมิ และต้อหินทุติยภูมิ โดยกลไกการเกิดโรคนั้นเกิดจากการสูญเสียสมดุลของการสร้าง และระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงใดๆในระยะแรก มีเพียงภาวะต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลัน ที่อาจมีอาการแสดงเช่นปวดตา ตาแดง การมองเห็นลดลง การตรวจลักษณะประสาทตาเสื่อม ที่เข้าได้กับการสูญเสียลานสายตา จึงสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้”
“เป้าหมายของการรักษาต้อหินนั้นคือ ชะลอความเสื่อมของโรคโดยรักษาการมองเห็น และคงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยการรักษาที่ได้ผลคือการควบคุมความดันตา ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อประสาทตา ด้วยการใช้ยาหยอดลดความดันลูกตา การเลเซอร์ และการผ่าตัด แต่เนื่องจากต้อหินเป็นโรคความเสื่อม การรักษาไม่หายขาด ความเข้าใจโรค ความมีวินัยในการหยอดยา และการหมั่นติดตามการรักษา ส่งผลโดยตรงต่อผลลัพธ์ของการรักษา ส่วนการรักษาทางเลือกอื่นๆ เช่นกินอาหารเสริม การนวดตาเป็นการแอบอ้าง และโฆษณาที่เกินจริง”