HEALTH

กทม.เตรียมคิกออฟ ‘ดุสิตแซนบ็อกซ์’ ปลาย ก.ค. ยกระดับสาธารณสุขปฐมภูมิ

กทม.เตรียมคิกออฟ ‘ดุสิตแซนบ็อกซ์’ ปลายเดือน ก.ค. ยกระดับสาธารณสุขปฐมภูมิใกล้บ้าน รักษาส่งต่อได้อย่างไร้รอยต่อ นำร่องในพื้นที่วชิรพยาบาล

วันนี้ (1 ก.ค. 65) ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพแบบบูรณาการในพื้นที่เขตดุสิต พระนคร บางพลัด บางซื่อ (ดุสิตโมเดล) ที่คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล หรือการทำพื้นที่แซนบ็อกซ์สุขภาพในแนวความคิด “มีหมออยู่ใกล้ใจในทุกบ้าน” ยกระดับหน่วยบริการสุขภาพกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชน ส่งต่อไปยังหน่วยบริการทุติยภูมิ และตติยภูมิได้แบบไร้รอยต่อ ผ่านเทคโนโลยี Telemedicine

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า วชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อม พัฒนาระบบดูแลรักษาดังกล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ร่วมกับ สปสช. สำนักอนามัยโดยศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิคอบอุ่น เริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงโควิดที่ทำให้เห็นช่องว่างว่าต้องทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถเข้าถึงประชาชนที่บ้าน หรือที่ศูนย์บริการใกล้ตัวได้ง่ายขึ้น สามารถให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ช่วยเหลือในกรณีการเจ็บป่วยที่ซับซ้อนได้ใกล้บ้าน พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยให้ไม่สะดุด

ด้วยเหตุผลว่าเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม จึงจะเปิดพื้นที่นี้เป็นแซนบอกซ์ (Sand Box) ทดลองการบูรณาการระบบทั้งหมด ลงมือทำเพื่อเรียนรู้ปัญหา ตั้งหมุดหมายไว้ที่วันที่ 28 กรกฎาคมนี้

ผศ.ดร.ทวิดา อธิบายภาพที่จะเกิดขึ้นจากการบูรณาการดังกล่าว ว่าจะทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถเดินทางไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ไม่ต้องไปต่อคิวที่โรงพยาบาล มีแพทย์ประเมินอาการผ่านระบบ Telemedicine ในเคสที่ต้องปรึกษาแพทย์ มีระบบรับ-ส่งต่อ-ส่งกลับผู้ป่วย ที่ต้องมารักษาตัวต่อในสถานพยาบาลที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร้รอยต่อ และเรียนรู้ปัญหา ข้อผิดพลาดจากพื้นที่แซนบ็อกซ์นี้ ถอดบทเรียนและหาแนวทางก่อนเปิดในพื้นที่อื่นต่อไป

หลังจากนี้ทางวชิรพยาบาลจะร่วมกับหน่วยงานกำกับมาตรฐานเข้าไปกำกับมาตรฐานการทำงานหน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชนเลือกใช้บริการ ต้องถี่ถ้วนในข้อมูลเรื่องสิทธิการรักษาให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้ระบบมีความหนาแน่นมากเกินไป ปรับการทำงานของบุคลากรให้เป็น Automation มากขึ้น ลดภาระงานเอกสาร ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยพื้นที่แซนบ็อกซ์ต่อไปที่วางแผนไว้คือพื้นที่ของ รพ.ราชพิพัฒน์ เขตกรุงธนเหนือ-ใต้

ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ อธิการบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ยืนยัน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเชื่อว่าหน่วยบริการปฐมภูมิมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากเพียงพอ ที่ผ่านมาหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งภาครัฐและเอกชนอาจจะขาดความมั่นใจเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน ไม่มีหน่วยบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิที่จะรับส่งต่อคนไข้ การบูรณาการครั้งนี้จะสร้างความมั่นใจว่ายังมีเพื่อน พี่ น้องที่พร้อมช่วยเหลืออยู่

Related Posts

Send this to a friend