ECONOMY

รายงานธนาคารโลก เผยเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว

ตามอุปสงค์ของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ และการกลับมาของนักท่องเที่ยว ชี้การรับมือกับความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง สำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

วันนี้ (28 มิ.ย. 66) รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2566 เพิ่มจากร้อยละ 2.6 ในปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์จากจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีความแข็งแกร่งเกินกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

รายงานคาดการณ์ว่าการเติบโตในปี 2567 จะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.4 ในปี 2568 โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศลดลง อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงในปี 2566 เหลือร้อยละ 2 ท่ามกลางราคาและเพดานราคาพลังงานที่ผ่อนคลายขึ้นทั่วโลก แม้ว่าราคาอาหารและพลังงานจะไม่ผันผวนแล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

การกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน ทำให้แนวโน้มการท่องเที่ยวแข็งแกร่งขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะสูงถึง 28.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 84 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 และคาดว่ากลับมาเท่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภายในครึ่งปีหลังของปี 2567

เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแอกว่าที่คาด และความไม่แน่นอนทางการเมือง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น ภาวะประชากรสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูง

ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ออุทกภัยและภัยแล้งอย่างมาก จำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่เข้มแข็งแกร่งกว่าเดิมเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยและภัยแล้งซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง

ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความถี่ของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงทุนมนุษย์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ มีความสำคัญต่อประเทศไทย และจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งกว่าเดิมในการจัดลำดับความสำคัญของการวางแผนลดความเสี่ยง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ และการจัดการการใช้ที่ดินและน้ำ

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ของโลกในการจัดอันดับ INFORM Risk Index ซึ่งเป็นดัชนีเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอุทกภัย รองจากเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

รายงานยังระบุว่าการรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งมีความคืบมากขึ้น และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สนับสนุนการวางแผนและดำเนินการตามมาตรการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งมากขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังแนะนำว่า การปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานควรดำเนินการควบคู่ไปกับการประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ในการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งที่เหมาะสม

Related Posts

Send this to a friend