ทีดีอาร์ไอ เปิดเวทีเสวนา ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ ยกกรณี Grab ขับเคลื่อน GDP
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “นิยามใหม่ของสังคม: พลิกโฉมประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย ตลอดจนโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมทั้งบทบาทของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ส่งผลต่อรูปแบบการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่ม Gig Worker รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับมหภาค
ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอศึกษาบทบาทและผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจของแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยยกกรณีศึกษาของแอปพลิเคชัน Grab ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย มีบทบาทในการสร้างประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจไทย รวมถึงการสร้างรายได้และโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานอิสระ
“ในปี 2566 กิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวงจรธุรกิจของ Grab ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่า 1.79 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของ GDP ไทย ช่วยสร้างงานกว่า 280,000 ตำแหน่ง และรายได้ครัวเรือนราว 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหภาค” ดร.นณริฎ ระบุ
รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอดจนการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทิศทางและรูปแบบการทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระหรือ Gig Worker ที่มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะคน Gen Y ในช่วงปลาย และ Gen Z ซึ่งรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาค
“ทั้งนี้ จากการสำรวจตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นพบว่า มี 170 ล้านตำแหน่งทั่วโลก แต่จะมีตำแหน่งงานที่หายไป 92 ล้านตำแหน่ง ซึ่งพบว่ามีจำนวนตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง ดังนั้น ต้องตั้งโจทย์ถามภาครัฐว่า ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมไว้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะตำแหน่งงานใหม่ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากนี้เชื่อว่าเป็นตำแหน่งงานที่อยู่บนแพลตฟอร์มจำนวนมาก” รศ.ดร.ดนุวัศ ระบุ
รศ.ดร.ดนุวัศ กล่าวเสริมว่า นิด้าศึกษาบทบาทของแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยเน้นไปที่ระบบ Gig Economy โดยพิจารณา 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์ม ผู้ใช้บริการ พันธมิตร และหน่วยงานภาครัฐ และได้พัฒนาออกมาเป็นต้นแบบของนโยบาย โดยมีให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ให้มุ่งส่งเสริมการแข่งขัน หรือการตลาดแบบเสรีควบคู่กับการสนับสนุนให้กลุ่มแรงงานอิสระสามารถเข้าถึงหลักประกันพื้นฐานทางสังคมของภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมเพื่อสร้างสมดุล และความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะกลางถึงยาวอย่างยั่งยืน
นายศุภโชค จันทรประทิน จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ดีต้องรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการ และการส่งเสริมนวัตกรรมควบคู่กันไป หน่วยงานภาครัฐจึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เป็นธรรม และเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการขยายตลาดไปสู่ระดับสากล ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของเราไม่ใช่แค่การควบคุม แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศที่ทุกฝ่ายสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน