ECONOMY

คาด ตลาดคาร์บอนไทยเติบโตต่อเนื่อง ชี้ต้องให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุน และเร่งพัฒนา

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยและศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัพเดทสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย พร้อมแนวโน้มตลาดในอนาคต ผ่านงานวิจัย “The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market” ชี้ ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องการความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต และการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้เทียบเท่าระดับสากล ส่วนกลุ่ม SMEs ต้องการทั้งความรู้และเงินทุน

ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รักษาการผู้อำนวยการ TGO กล่าวว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เริ่มตั้งแต่ปี 2557 มีที่ขึ้นทะเบียนโครงการรวม 438 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 434 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต 169 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER เท่านั้น โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 19.53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (MtCO2eq) ขณะที่เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในตลาดแรกและตลาดรองกว่า 3.42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (MtCO2eq) มูลค่าซื้อขายรวมกว่า 299 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 เติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวจากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะปรับใช้ในอนาคต

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ประเทศไทยปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด อุปสรรคคือต้นทุนในการดำเนินการ ทั้งต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนา โครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน

ผลการสำรวจสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยพบว่า คาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการลดก๊าซเรือนกระจก โดยผู้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตมีแผนจะนำคาร์บอนเครดิตประเภทพลังงานทดแทนออกขายในตลาด ขณะเดียวกันคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้ที่มีราคาสูงจะออกขายในตลาดน้อย เนื่องจากผู้พัฒนามีแนวโน้มจะนำเครดิตไปใช้สำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองมากกว่า และมิติด้านราคา พบว่าผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ขายคาร์บอนเครดิตยินดีที่จะขาย มีแนวโน้มสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อยินดีที่จะซื้อในทุกกลุ่มประเภทโครงการ

ด้านมาตรการสนับสนุนพบว่า ควรมุ่งเน้นไปที่ 2 ส่วน ผ่านการสนับสนุนผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งต้องการความรู้เกี่ยวกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาโครงการ การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อขาย และส่วนที่ 2 การพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เทียบเท่าและได้รับการยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดที่เป็นกลุ่ม SMEs ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนด้านความรู้และความช่วยเหลือทางการเงิน และสร้างแรงจูงใจโดยการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้พัฒนาโครงการและมีกลไกอุดหนุนราคาคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ธุรกิจ SMEs เข้าร่วมในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจมากขึ้น

“The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market” ฉบับเต็ม (ใส่ลิงค์) https://carbonmarket.tgo.or.th/tools/files.php?mod=ZG93bmxvYWQ=&type=X0ZJTEVT&files=Mzk=

Related Posts

Send this to a friend