เมื่อดิจิทัล และนวัตกรรมด้านพลังงานคือคำตอบของการพัฒนาธุรกิจ และเมืองอย่างยั่งยืน
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ประเทศไทย และประเทศสมาชิกรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน 17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายย่อย ครอบคลุมการพัฒนาคน (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) เศรษฐกิจ และความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)
ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ต่างให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว โดยเฉพาะการนำดิจิทัล และนวัตกรรมด้านพลังงานเข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนการบรรลุ SGDs ตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะดีแค่ไหนหากประชาชนมีส่วนร่วมในการมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วย
Smart Enough: รู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้คน และธุรกิจ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานเปิด Innovation Hub Bangkok ว่า โจทย์ใหญ่ในการพัฒนาเมืองคือการสร้าง Smart ‘Enough’ City คือเมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในเมือง ธุรกิจสามารถใช้งานได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ และเหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างประสิทธิภาพและความยั่งยืน
“ข้อมูล คือสิ่งสำคัญ และต้องใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” นายชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้ใช้ระบบการแจ้งปัญหา Traffy Fondue เข้ามาช่วย และจากการทดลองใช้ได้รับการตอบรับอย่างดี ชาว กทม. เป็นเซ็นเซอร์แจ้งปัญหาเข้ามา ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการออกไปตรวจสอบหาปัญหาเอง โดยขั้นตอนหลังจากการได้รับข้อมูลจากประชาชนแล้ว คือการนำข้อมูลนั้นมาใช้อย่างไรในอนาคต และจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยย้ำว่า การนำเทคโนโลยีหรือนวตกรรมที่เหมาะสมเข้ามาใช้จะช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากขึ้น โดยยึดถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง และใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เช่นเดียวกับ นายสเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย เมียนมา และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่เปิดเผยว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกภาคส่วนยอมรับว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมีส่วนสำคัญ โดยจากการสำรวจในงาน Innovation Summit Bangkok 2023 งานสำคัญระดับโลกของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่จัดขึ้นช่วงเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า องค์กรชั้นนำในประเทศต่างเห็นพ้องถึง 99% ว่าเทคโนโลยีจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และประเทศไทยเองก็ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2035 รถใหม่จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น และตั้งเป้าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050
หมุดหมายสำคัญคือ การจับมือกันใช้นวัตกรรมด้านพลังงานเพื่อประสิทธิภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแล้ว นายสเตฟาน ย้ำว่า หมุดหมายสำคัญคือการที่วันนี้เราต้องร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจ สร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ผ่านการใช้พลังงาน ดิจิทัล อย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาร่วมเป็น Green Heroes for Life โครงการด้านความยั่งยืนที่ริเริ่มโดย ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างชุมชนของพลเมือง ธุรกิจ และสถาบันที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อนําไปสู่การนําวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมาปรับใช้ ทั้งพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบอัตโนมัติ ระบบดิจิทัล และแนวคิดใหม่ของการจัดการระบบไฟฟ้า ด้วยกัน
“พันธกิจของเราคือการเป็นดิจิทัลพาร์ทเนอร์เพื่อประสิทธิภาพ และความยั่งยืนของทุกคน” สเตฟาน กล่าว
“เราขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ด้วยนวัตกรรมโซลูชั่นแบบบูรณาการสำหรับบ้าน อาคาร ศูนย์ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรม ด้วยโซลูชั่นทั้งฮาร์ดแวร์ คืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ และซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในการมอนิเตอร์ และตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ทำให้เรามีอำนาจในการควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคาดการณ์การซ่อมบำรุง รวมถึงการลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก และธุรกิจ”
หัวใจสำคัญคือการบูรณาการเพื่อไปสู่เป้าหมาย
นายฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ประธานบริหาร ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดเผยว่า การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า 70% ของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ลดลงได้หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยหัวใจสำคัญคือการบูรณาการการออกแบบ การสร้าง การบริหารจัดการผ่านตัวช่วยหรือโซลูชั่นต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อความยั่งยืน
“3 ขั้นตอนสู่การลดคาร์บอนในอนาคต ได้แก่ การทำให้เป็นดิจิทัล เพื่อที่เราจะได้ติดตามการใช้ รวมถึงการปลดปล่อย ได้รับข้อมูลที่จำเป็นจากรายงาน การดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ด้วยการประเมินเพื่อสร้างโรดแมปที่เหมาะสม ไปจนถึงการลดคาร์บอนด้วยการด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายฌอง กล่าว
นายฌอง ย้ำว่าเราสามารถเปลี่ยนอาคารธรรมดา เป็นอาคารที่ยั่งยืน และมีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางได้ หรือเปลี่ยนโรงงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ สมาร์ท และกรีนได้ ผ่านโซลูชั่นต่างๆ โดยล่าสุด ชไนเดอร์ เปิดตัว Innovation Hub Bangkok ที่รวมโซลูชั่นด้านดิจิทัล ตอบโจทย์ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อการทรานส์ฟอร์มสู่ระบบดิจิทัลให้กับธุรกิจที่ต้องการมุ่งไปสู่ความยั่งยืน
Innovation Hub Bangkok
Innovation Hub Bangkok ตั้งขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในกรุงเทพฯ ถนนรัชดาภิเษก โดยจัดแสดงโซลูชั่นสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุม ที่อยู่อาศัย อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกริดและอินฟาสตรัคเจอร์ต่างๆ ได้แก่
Industries of the Future เทคโนโลยีผสานรวมระหว่าง IT และ OT เข้าด้วยกัน มอบความยั่งยืนและยืดหยุ่นผ่านระบบอัตโนมัติ บนแพลตฟอร์มเปิด เน้นซอฟต์แวร์เป็นศูนย์กลาง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
Data Centers of the Future นำเสนอโซลูชั่นตั้งแต่ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ไปจนถึงไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมรองรับการทำงานในรูปแบบเอดจ์คอมพิวติ้ง พร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ
Buildings of the Future มาพร้อมเทคโนโลยีมาตรฐาน KNX โดยสามารถเชื่อมต่อกับโซลูชั่นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอาคารได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้การออกแบบอาคารในการรองรับการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงโซลูชั่นสำหรับธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล ฯลฯ
Homes of the Future แสดงนวัตกรรมสำหรับบ้านของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค โซลูชั่นโฮมออโตเมชั่น โซลูชันพลังงานในบ้านที่รองรับอนาคตและปรับขนาดได้ ตามความต้องการของผู้ใช้งานในบ้าน ช่วยตรวจสอบ ควบคุม และทำงานอัตโนมัติ พร้อมช่วยประหยัดการใช้พลังงาน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ภายในบ้านของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค
Grids of the Future โซลูชั่นช่วยในการบริหารจัดการพลังงาน และกริดอัจฉริยะในแบบครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ นอกจากนี้ ยังมีมุมนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด SM Airset สวิตช์เกียร์ (Switchgear) รุ่นใหม่ล่าสุดแบบโมดูลาร์ ไร้สาร SF6 ที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน
ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ล้วนแล้วแต่ต้องการความร่วมมือร่วมใจจาก “ทุกคน” และ “ทุกภาคส่วน” ซึ่งอาจต้องผ่านการปรับพฤติกรรม ความคิด และทัศนคติโดยการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล และโซลูชั่นที่เหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของโลก