‘สุชาติ’ มอบ สนค. เร่งวิเคราะห์สินค้า ดันส่งออกตามความต้องการตลาด

‘สุชาติ’ มอบ สนค. เร่งวิเคราะห์สินค้า ดันส่งออกตามความต้องการตลาด พร้อมสนับสนุนภาคเอกชน แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เร่งศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจการค้าที่มุ่งเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดส่งออก รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบทางการค้าใหม่ ๆ ทั้งความเสี่ยงและโอกาส เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบ ปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาส ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยนโยบายสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1 เร่งขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงาน ยึดแนวทางตามนโยบายรัฐบาล และช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าบรรลุผลสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนและสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ด้านที่ 2 วิเคราะห์แนวทางการผลักดันการส่งออก ‘สินค้าระดับรอง’ สู่การส่งออกที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันการส่งออกในแต่ละหมวด ยังกระจุกตัวอยู่แค่บางสินค้า ทำให้การส่งออกของไทยไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ จึงต้องผลักดันสินค้าระดับรอง ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังมีมูลค่าส่งออกน้อย แต่มีความต้องการจากตลาดโลกต่อเนื่อง สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวได้ เช่น สินค้าเกษตร ยังมีศักยภาพในการส่งออกกาแฟ กล้วยไม้ สารสกัดจากสมุนไพร ฯลฯ
สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีศักยภาพที่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากข้าว ผักผลไม้กระป๋อง ผักผลไม้ แปรรูป น้ำผลไม้/น้ำผัก ไอศกรีม คราฟต์ช็อกโกแล็ต ฯลฯ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกของธุรกิจชาวต่างชาติ แต่ยังมีสินค้าของธุรกิจคนไทยที่ควรส่งเสริมให้มีศักยภาพ เช่น เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ บำรุงผิว เครื่องใช้ในครัวเรือน ของตกแต่ง ฯลฯ
ด้านที่ 3 เจาะลึกการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเชิงรุกให้สอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคธุรกิจและประชาชนเพื่อสร้างและขยายโอกาสทางการค้า และพร้อมรับมือความเสี่ยงจากผลกระทบได้อย่างทันท่วงที
ด้านที่ 4 เสริมแกร่ง ‘SMEs – เกษตรกร’ ดันส่งออก และใช้นวัตกรรมภาคเกษตร เพื่อกระจายรายได้และความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยให้ สนค. ศึกษาแนวทางการส่งเสริม SMEs ท้องถิ่นในระดับจังหวัดและชุมชน เพื่อพัฒนาให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น อาจให้พาณิชย์จังหวัดร่วมกับหน่วยงานระดับพื้นที่ เฟ้นหา SMEs เพื่อจับคู่ธุรกิจแบบตัวต่อตัว (B2B) กับคู่ค้าและผู้นำเข้าที่มีศักยภาพ ผลักดันการส่งออกสินค้าชุมชน สินค้า-อัตลักษณ์ท้องถิ่น และสินค้า GI สู่ตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ ให้ศึกษาแนวทางการสร้างและพัฒนานวัตกรรม (Innovation) ด้านการเกษตร ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมการเกษตร พลิกโฉมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมสู่เกษตรนวัตกรรม
ด้านที่ 5 ยกระดับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ให้ สนค. ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก แก้ปัญหาความเดือดร้อนและปากท้องของประชาชน เพื่อชี้นำทิศทางเศรษฐกิจการค้าไทย และลดความซ้ำซ้อนของปฏิบัติงาน