สุริยะ สั่งหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หลังยอดจองใน งาน Motor Expo ทะลุ 5,800 คัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 หรือ Motor Expo 2022 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า มีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.3 ล้านคน มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 36,679 คัน เพิ่มขึ้น 16.1% จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
ในจำนวนนี้ เป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 5,800 คัน คิดเป็น 15% ของยอดรวมจองรถยนต์ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน มาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่างๆ เปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองการใช้งานหลายรุ่น โดยที่ผู้บริโภคเองก็เริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐาน รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของแต่ละค่าย ที่จัดโปรโมชันชุดใหญ่ให้ลูกค้า
นายสุริยะ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ แบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุ รวมทั้งสิ้น 128 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งแรกในภูมิภาค ASEAN ณ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อการยกระดับมาตรฐานและการวิจัย
“การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มียอดการจดทะเบียนรถ BEV 10 เดือนแรกของปี 2565 ประมาณ 15,423 คัน คาดว่าในปี 2566 จะมียอดการใช้รถ BEV เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คัน นับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งพิจารณาจากการที่บีโอไออนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ ยังกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็น 10% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มียอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 กว่า 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ราว 12.36% กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1.75 ล้านคัน ได้อย่างแน่นอน