ภาคเอกชน ยื่นคำขาด ให้ตรึงค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้า (Ft) ที่แพงขึ้นว่า สาเหตุที่พลังงานไทยแพง เพราะรัฐปล่อยให้เอกชนถือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามากกว่า กฟผ. และยังคาดการณ์ดีมานด์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินไป
ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้เรียกร้องรัฐบาลถึง 7 ครั้ง ให้ทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ชะลอขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ออกไปก่อน รวมถึงขอรับอนุญาตติดตั้งโซลาร์ในสถานประกอบการ และการปรับสูตรโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ แต่ปรากฎว่ารัฐบาลเงียบและเพิกเฉยต่อข้อเสนอเหล่านี้
“ในการประชุม กกร.ครั้งถัดไป ภาคเอกชนยังคงยืนยันข้อเสนอให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ออกไปก่อน เนื่องจากงวดก่อนนี้ รัฐปรับขึ้นไปแล้ว ทำให้ค่าไฟพุ่งถึง 17% หากปรับค่า Ft ขึ้นอีกก็จะเป็นการปรับขึ้นครั้งรุนแรงมากถึง 2 ครั้งติดต่อกัน มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่าเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ที่มีค่าไฟเพียง 288 บาทต่อหน่วย จน ส.อ.ท.เองกังวลว่าจะเกิดการ down sized ธุรกิจ และย้ายฐานการผลิตในปี 66 จากปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นคือ เซรามิก เยื่อกระดาษ รวมถึงอุตสาหกรรมแก้ว เมื่อต้นทุนขึ้น การตรึงราคาสินค้าที่ขึ้นอยู่กับการขึ้นราคาพลังงาน ถ้าเราชะลอไม่ปรับขึ้น ก็จะกดราคาอยู่ทั้งหมด ถ้ารัฐไม่ชะลอ เราก็คงต้องปรับราคาสินค้ารอบนี้ขึ้นอีก 5-12%
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะสรุปสูตรอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดใหม่เดือน ม.ค.-เม.ย. 66 อย่างเป็นทางการ เบื้องต้น อัตรา’วดใหม่ในส่วนของภาคครัวเรือน คาดว่าเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช) ให้นโยบายช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายค่าไฟราคาเดิมเท่างวดปัจจุบัน 4.72 บาทต่อหน่วย
ส่วนภาคอุตสาหกรรม อาจต้องปรับขึ้นสูงเกินกว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุตัวเลขอย่างชัดเจนได้ เนื่องจาก กกพ.อยู่ระหว่างรอ ปตท.สรุปตัวเลขการคิดราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำหรับโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และการพิจารณาจ่ายหนี้ให้กับ กฟผ. จำนวน 1.2 แสนล้านบาท ว่าจะมีแนวทางการจ่ายอย่างไร