ECONOMY

ยูโอบี คาด GDP ไทยปี 2566 โต 3.7% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น เงินบาทแข็ง ส่งออกขยายตัว

นายเอ็นริโก้ ทานูวิดฮาฮา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economic and Market Research ของธนาคารยูโอบี ล่าสุดเผยรายงานวิจัย การวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี (GDP) สามารถเติบโตถึงร้อยละ 3.7 ในปีนี้

นายเอ็นริโก้ เผยว่า “ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มต้อนรับนักท่องเที่ยว จากประเทศจีนที่กลับเข้ามาอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ และส่งผลดีให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ดี จากภาคธุรกิจบริการที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ ดังนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละไตรมาส โดยยูโอบีประเมินว่าอัตราการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัว ได้ถึงร้อยละ 3.7 และอัตราเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นผลจากรายได้ท่องเที่ยว ที่เป็นแรงสนันสนุนหลักทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้มีความสดใส”

นอกจากนี้ผลพวงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ที่จะเดินทางกลับมาเข้าอีกครั้ง หลังจากนโยบายการเปิดพรมแดน จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งปีแรก ค่าเงินบาทอาจได้รับผลกระทบ จากความท้ายทายของเศรษฐกิจโลกในระดับมหาภาค ทำให้เคลื่อนไหวอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนจะกลับมาแข็งแกร่งและไต่ระดับไปถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยรวมภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆโดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโต ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจหลักในประเทศ”

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย เริ่มส่งสัญญาณฟิ้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ทำให้ในปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย มีโอกาสจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 3-4 เห็นได้จากจีดีพีของปี 2565 กลับมาเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากมูลค่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และรายได้ท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้มูลค่าการอุบโภคบริโภค ระดับครัวเรือนมีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี และค่าใช้จ่ายในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้น ถึงร้อยละ 15.8 จากการใช้จ่ายที่สูงขึ้นในภาคธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยว สันทนาการ และวัฒนธรรม ดังนั้นยูโอบีจึงเชื่อมั่นว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ในปีนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ภายในประเทศควบคู่ ไปกับภาคส่งออกที่แข็งแกร่งขึ้น

ตั้งแต่ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ได้ขึ้นไปแตะที่จุดสูงสุดก่อนจะทยอยปรับระดับลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวของระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และ กระจายสินค้าของรายการอาหารบางชนิดที่ช่วยลดแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง สำหรับปี 2566 ยูโอบีประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อ ของประเทศไทยจะลอยตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) จะขึ้นไปแตะที่ร้อยละ 3.9 ในช่วงครึ่งปีแรก และจะคงค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ1.5 ในช่วงครึ่งปีหลัง จากความต้องการบริโภคที่ลดลงเพราะระบบห่ วงโซ่อุปทานโลกปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์พลังงานและราคาสินค้าทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ที่ทรงตัว (moderate) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อนี้ สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประเมินอยู่ที่ร้อยละ 2-3

ทีมนักวิเคราะห์ของยูโอบีประเมินว่าในปีนี้ ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย และกับดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยต่างๆเช่น การใช้นโยบายการเงินอย่างผ่อนปรนและยืดหยุ่นของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่นๆในภูมิภาค รวมถึงระดับอัตราดอกเบี้ยทั่วภูมิภาคยังอยู่ในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และการเปิดพรมแดนของจีนจะช่วยบรรเทาความท้าทายเหล่านี้ และส่งผลให้ค่าเงินบาทยังสามารถ รักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยูโอบีประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัด ของประเทศไทยจะกลับมาเกินดุลอีกครั้งที่ร้อยละ 2.8 ของจีดีพี ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้ค่าเงินบาทซึ่งอ่อนตัวและเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรก จะกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสสุดท้าย

Related Posts

Send this to a friend