ECONOMY

จับตา! นายกฯ นำทัพ รมต.เศรษฐกิจ ประชุมเอเปคครั้งที่ 30

จับตา! นายกฯ นำทัพ รมต.เศรษฐกิจ ประชุมเอเปคครั้งที่ 30 ณ ซานฟรานซิสโก เตรียมปาฐกถาเปิดตัวต่อผู้นำธุรกิจ 1.2 พันคนทั่วเอเชียแปซิฟิก จัดโรดโชว์แลนด์บริดจ์เชื่อมสองสมุทร เพิ่มสมรรถนะการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี ดันพลังงานสะอาด-รถ EV มุ่งตกลงการค้าเสรีตามนโยบายรัฐบาล

วันนี้ (8 พ.ย. 66) นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ บรรยายสรุปแก่สื่อมวลชน ณ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2566 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ของนายกรัฐมนตรีและคณะผู้แทนไทย ระหว่างวันที่ 11 – 17 พ.ย. 66 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

“เป็นการต่อยอดความสำเร็จที่ไทยเป็นเจ้าภาพของเอเปคในปีที่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) และเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ก็กลายเป็นบทสนทนาและเนื้อหาหลักของเอเปค ที่สหรัฐอเมริกาจะประสานต่อเรื่องนี้” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวก่อนชี้แจงกำหนดการประชุมภาพรวม ได้แก่

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคในวันที่ 11-12 พ.ย. 66 การประชุมระดับรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันที่ 13-15 พ.ย. 66 และการประชุมระดับผู้นำในวันที่ 16-17 พ.ย. 66

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค พร้อมด้วยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะจำแนกวงประชุมรัฐมนตรีคลังที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่รองนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจของเอเปค (APEC CEO Summit) โดยจะขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษด้วย โดยมีบุคคลสำคัญจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ก่อนที่ในช่วงสุดท้าย นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย. 66

“แม้นายกรัฐมนตรีเคยเปิดตัวในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ แต่ครั้งนี้ในกรอบเอเปค ไทยเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่ง 15 เขตเศรษฐกิจในนั้น เป็น 15 คู่ค้าสำคัญของไทย การปรากฏตัวครั้งนี้ จึงยังเป็นการพูดปาฐกถาครั้งแรกของนายกฯ ต่อภาคธุรกิจที่ไม่ใช่แค่กับสหรัฐอเมริกา แต่จากเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด 1,200 คนที่ได้รับเชิญเข้าร่วมด้วย จึงอยากให้โฟกัสที่ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีใน CEO Summit” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ตลอดจนหารือกับภาคเอกชนและบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ทั้งรูปแบบโต๊ะกลม และกิจกรรมโรดโชว์ ซึ่งรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นายเศรษฐา มุ่งหน้าผลักดันนโยบายของใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1.ประเด็นการค้าการลงทุน รัฐบาลจะย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เป็นแกนกลาง ผลักดันงานเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก และนำเสนอนโยบายเชิงรุกของไทยในการจัดทำและยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ (Free Trade Agreement: FTA) ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค

“จังหวะเวลานี้ เรามีนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ เรามีรัฐบาลใหม่ มีนโยบายใหม่ของไทยที่เราอยากนำเสนอ นายกรัฐมนตรีเศรษฐาให้ความสำคัญกับการทำ FTA มากทั้งระดับภูมิภาคและทวิภาคี” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าว

2.ประเด็นความเชื่อมโยง รัฐบาลจะเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยการนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่เชื่อมโยงอ่าวไทยกับอันดามัน แต่เชื่อมโยงระหว่างเอเชียแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนโดยเฉพาะผ่านการเดินทางและการท่องเที่ยวด้วย

3.ประเด็นความยั่งยืน รัฐบาลจะผลักดันการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และความเป็นกลางทางคาร์บอน นำเสนอนโยบายยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) การเงินสีเขียว และพลังงานสะอาดของไทย

4.ประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลจะส่งเสริมการค้าดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และนวัตกรรมใหม่ เช่น AI โดยตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแล เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงลบ

“แนวคิดการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันคือ Competitiveness (สมรรถนะในการแข่งขัน) บนพื้นฐานเทคโนโลยีแม้ประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเปคมีการพูดมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดตายตัวว่าจะพูดอะไร คาดว่าการพูดคุยในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นอย่างเร็วมากในสารบบไทย เพราะ AI ถือเป็นเรื่องใหม่ของหลายรัฐบาล” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าว

5.ประเด็นความครอบคลุมและความเท่าเทียม รัฐบาลจะเน้นการขจัดความยากจนและความลดความเหลื่อมล้ำ นำเสนอนโยบายของไทยที่สนับสนุนกลุ่มเปราะบาง พัฒนาการศึกษา และยกระดับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ทุกสาขา ทุกเทคโนโลยี ทุกหมวดการลงทุน ขอเรียนเลยว่าเยอะมาก ๆ และรูปแบบไม่ใช่แค่ 1 ต่อ 1 แต่มีทั้งจัดโต๊ะกลม และดินเนอร์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงความเป็นไปได้ที่จะมีเขตเศรษฐกิจเอเปคยกประเด็นความไม่สงบในตะวันออกลางขึ้นมาหารือในสัปดาห์การประชุมนี้ด้วย นายเชิดชาย ตอบว่า เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเปคจึงไม่มีประเด็นวาระในการถกเถียงประเด็นการเมืองนอกเขตเศรษฐกิจ จริงอยู่แม้ปีที่แล้วในถ้อยแถลงมีประเด็นยูเครนเนื่องจากกระทบเขตเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทาน แต่ประเด็นยูเครนไม่อยู่ในประเด็นวาระของเอเปคปีที่แล้วแต่อย่างใด และคาดว่าครั้งนี้ คงไม่มีประเด็นวาระอิสราเอลในเอเปค ส่วนหากมีในการหารือทวิภาคีของผู้นำ ก็ไม่อาจคาดได้

ทั้งนี้ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะประสานกับกรมสารนิเทศ ในการจัดการแถลงข่าวความคืบหน้าของการประชุม ผ่านระบบออนไลน์ในช่วงเช้า ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย. 66

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

Related Posts

Send this to a friend