เผยผลสำรวจการใช้จ่าย ‘วาเลนไลน์ 66’ คึกคักสุดรอบ 3 ปี ขยายตัวเป็นบวกรอบ 5 ปี
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจการใช้จ่าย ช่วงเทศกาลวาเลนไลน์ 2566 คึกคักสุดในรอบ 3 ปี และขยายตัวเป็นบวกในรอบ 5 ปี
เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอาจารย์วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ พร้อมด้วยอาจารย์อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าว ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนช่วงวาเลนไทน์ ประจำปี 2566 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,255 คน โดยวาเลนไทน์ปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี และมีบรรยากาศคึกคักสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ประเทศไทยเริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19
โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า Gen Z จะให้ความสำคัญในวันวาเลนไทน์มากที่สุดรองลงมาคือ Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มของวัยเรียนและวัยทำงาน และเมื่อสอบถามถึงการออกไปฉลองในวันวาเลนไทน์กลุ่มร้อยละ 49.2 ต้องการจะไปฉลองวาเลนไทน์กับคนรัก หรือคนรู้ใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ร้อยละ 50.8 ตอบว่าไม่ไปฉลอง โดยสถานที่ที่ต้องการไปฉลองวาเลนไทน์มากสุด คือ ห้างสรรพสินค้า รองลงมา คือ คาเฟ่ และร้านอาหาร ส่วนปัจจัยที่ใช้ในการเลือกซื้อของขวัญในวันวาเลนไทน์ 5 อันดับแรก คือ ความชอบของผู้รับของ รองลงมา คือ ความสะดวก ประโยชน์ ความนิยม และ ราคา ตามลำดับ สำหรับปัญหาสังคมที่กลุ่มตัวอย่างมีความกังวลและคิดว่ามีความรุนแรงมากขึ้นคือ การคลอดแล้วทิ้ง พ่อ-แม่ไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงลูก และการล่วงละเมิดทางเพศของคนใกล้ชิด ซึ่งเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน