ECONOMY

ดร.นฤมล ชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นแต่ค่าครองชีพยังพุ่งแนะปรับสูตรราคาพลังงาน

ดร.นฤมล ชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นแต่ค่าครองชีพยังพุ่งแนะปรับสูตรราคาพลังงานลดต้นทุน LPG อุ้มครัวเรือน

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุให้เห็นถึงรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจ ณ สิ้นปี 2565 มีสัญญาณบวกสะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดี ดุลบริการที่ติดลบมาตั้งแต่มีนาคม 2563 เพิ่งกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2565 เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเพิ่มขึ้นและนำรายได้จากการบริการเข้าประเทศ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็น +38,342 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ที่ยังน่าเป็นห่วง คือ ภาคการส่งออกที่ยังหดตัว โดยส่งออกเดือนธันวาคม 2565 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ร้อยละ 6.08 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัว ทำให้ตลอดปี 2565 ไทยขาดดุลการค้ารวม 702,636 ล้านบาท จากเดิมที่เกินดุลการค้าในปี 2564 เท่ากับ 43,355 ล้านบาท สัดส่วนใหญ่ของการขาดดุลการค้ามาจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

กรมธุรกิจพลังงานเพิ่งเปิดเผยตัวเลขการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยตลอดปี 2565 ที่มีมูลค่าสูงถึง 1,257,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.7% หรือเพิ่มขึ้นถึง 529,413 ล้านบาท จากปี 2564 เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้นถึงแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ค่าครองชีพที่ขึ้นอยู่กับราคาพลังงานเป็นหลักยังคงสูงขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมาตรการอุดหนุนใดคงไม่ตอบโจทย์ เพราะเงินยังออกจากกระเป๋าผู้มีรายได้น้อยมากกว่าเงินเข้า จึงต้องกล้าแก้ปัญหาที่ฐานราก คือ โครงสร้างราคาพลังงาน ทำอย่างไรจึงจะเกิดจุดร่วมตรงความเห็นต่างในเรื่องนี้ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม เช่น ราคาก๊าซสำหรับภาคครัวเรือน ควรเป็นราคาต้นทุนการผลิตที่แท้จริง และต่ำกว่าราคาตลาดโลก เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดหาก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LPG จาก 3 แหล่ง ได้แก่ โรงแยกก๊าซ ร้อยละ 54 โรงกลั่นน้ํามัน ร้อยละ 37 และการนําเข้า ร้อยละ 9

นั่นหมายความว่า LPG ที่จัดหาได้จากโรงแยกก๊าซ เป็นสัดส่วนที่จัดหาได้มากที่สุดและเพียงพอในการนำมาจัดสรรให้กับภาคครัวเรือนทั้งหมด ตามข้อกำหนดที่ให้จัดสรรก๊าซส่วนนี้ให้กับภาคครัวเรือนเป็นลำดับแรก ก่อนนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ฉะนั้น ราคาหน้าโรงแยกก๊าซ ควรเป็นราคาต้นทุนเนื้อก๊าซจากอ่าวไทยบวกค่าดําเนินการและผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างราคาต้นทุนลดต่ำลง

นอกจากนี้ ควรมีการปรับราคาจําหน่ายก๊าซในถังบรรจุขนาดเล็ก เช่น ถัง 4 กิโลกรัม และ 7 กิโลกรัมให้มีราคาเฉลี่ยให้มีราคาเฉลี่ยใกล้เคียงหรือเท่ากับราคาเฉลี่ยในถังขนาดบรรจุ 15 กิโลกรัม ตามประกาศของกรมการค้าภายในเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย

Related Posts

Send this to a friend