CRIME

เตรียมประชุมปรับแผนค้นหาร่วมทีมกู้ภัยนานาชาติ หลังเกิน 72 ชม.

รองผู้ว่าฯ – ผบ.เหตุการณ์ เผย เตรียมประชุมปรับแผนค้นหาร่วมทีมกู้ภัยนานาชาติ หลังเกิน 72 ชั่วโมง พร้อมแบ่งโซนกันตามความชำนาญ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน

วันนี้ (31 มี.ค. 68) เวลา 17:00 น. ที่เขตก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ รศ.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ แถลงข่าวรายงานความคืบการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ภายในซากอาคารถล่มว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้รอดชีวิตเพิ่ม เพียงแต่ตอนแรกที่ได้ให้ข้อมูลว่าเจอสัญญาณชีพนั้น คือร่างของผู้เสียชีวิตรายที่ 12 ซึ่งได้นำออกมาแล้ว โดยตอนนี้เราพยายามที่จะระบุจุดที่อยู่ให้ได้จริงๆ และพยายามจะเข้าไปในพื้นที่ให้ได้มากขึ้น

เบื้องต้น ที่เราเห็นรถบรรทุกเข้าออกเยอะๆ นั้น เรากำลังเคลียร์พื้นที่โดยรอบ เนื่องจากว่าจากภาพใหญ่จะมีลวด และเหล็กอยู่บริเวณโดยรอบด้วย จึงต้องทำการเคลียร์ออก หากมีการเคลียร์ซีเมนต์บางชิ้นก็จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการจัดวาง รวมถึงเป็นการเปลี่ยนเวรของรถบรรทุกเหล่านี้ด้วย เนื่องจากเครื่องมือเองก็ต้องพัก จึงต้องมีการเปลี่ยนเข้าเปลี่ยนออก

อีกทั้ง ในการนำเครื่องจากแต่ละชนิดเข้ามาก็ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย ซึ่งในเวลา 19:00 น จะมีการประชุมปรับแผนการว่าจะเข้าพื้นที่ด้วยวิธีไหน เจาะ เลื่อน เคลื่อน หรือว่าย้าย เมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ต้องมีการจัดการใหม่ในแต่ละเครื่องมือ

สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามา เป็นการนำรายละเอียดการใช้อาคารมาให้ ซึ่งมีการพูดคุย และมีให้ข้อมูลกันเรียบร้อย ส่วนเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และตำรวจที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากว่าต้องเข้าไปดูพื้นที่ว่าจะสามารถเก็บข้อมูลหรือต้องเข้าไปดูว่าพื้นที่ขณะนี้เป็นอย่างไร เพื่อเก็บข้อมูลไว้ โดยทุกหน่วยงานที่เข้าไปได้มีการแจ้งกับทาง กทม.ว่าตอนนี้ยังเข้าไปได้เพียงแค่รอบนอกเท่านั้น เพราะทีมค้นหาก็ยังคงดำเนินการค้นหาอยู่ และต้องรีบค้นหา

เมื่อผู้ข่าวถามว่ามีการประเมินสถานการณ์ไว้อย่างไรบ้าง หลังจากผ่านมาแล้วกว่า 72 ชั่วโมง รศ.ทวิดา ระบุว่า เป็นไปตามหลักการ 72 ชั่วโมงคือมีโอกาสรอดชีวิตสูง แต่หลังจาก 72 ชั่วโมงแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเสียชีวิต แต่หมายความว่าการที่จะหาเจอให้เร็วยิ่งเป็นสิ่งที่เราควรต้องทำเพราะผู้สูญหายจะยังคงอ่อนแอลงเรื่อยๆ ซึ่งเวลา 72 ชั่วโมงถือเป็นเวลาที่ร่างกายสามารถทนได้

รศ.ทวิดา ยังระบุถึงการทำงานร่วมกันกับทีมกู้ภัยนานาชาติ ว่า เรามีทีมนานาชาติที่เข้ามาช่วยค่อนข้างเยอะ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, จีน, ไต้หวัน และทีมจากฝรั่งเศส โดยมีการแบ่งโซนตามความชำนาญ เพราะบางทีมอาจมีความชำนาญในการสแกนหา ระบุตำแหน่ง และบางทีมจะมีความสามารถในการเคลียร์พื้นที่ ซึ่งจริงๆ ก็มีความต่างกันระหว่างทีมกู้ชีพกับทีม ฉะนั้นก็มีแบ่งงานกันเป็นโซน เพื่อไม่ให้เข้าไปทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่การทำงานพร้อมกันก็ต้องทำโดยไม่กระทบโครงสร้างซึ่งกันและกัน โดยมีเครื่องสแกน ข้อมูลหลายมิติในการดูโครงสร้างอาคารว่าอาคารเดิมอยู่อย่างไร รายการถล่มลงมาจะอยู่ในสภาพไหน เพราะว่าบริเวณทางหนีไฟ และช่องเล็กๆ อาจเป็นจุดที่มีคนอยู่ค่อนข้างเยอะ

ด้าน นายสุริยชัย กล่าวว่า เราคำนึงถึงชีวิตคนเป็นหลัก รวมทั้งความคาดหวังของญาติด้วย การทำงานก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของระยะเวลา ฉะนั้นเนื้องานต้องมีความละเอียด เบื้องต้นขณะเกิดเหตุยังมีความไม่เสถียรของตัวอาคาร แต่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และต้องเร่งค้นหาผู้ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือให้เร็วและทันต่อเวลา โดยการทำงานในตอนแรกนั้นเราจะใช้ตัวบุคคลกับเครื่องมือในการค้นหา เนื่องจากมีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง เมื่อมีความเสถียรของตัวอาคารแล้วก็เริ่มมีการใช้เครื่องจักรกลหนักเข้ามาช่วยในการเคลียร์พื้นที่ด้านหน้า เพื่อเปิดพื้นที่งานให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปค้นหาภายในตัวซาก โดยในวันนี้จะทำควบคู่กับเจ้าหน้าที่ทีมนานาชาติ และประเทศไทย รวมถึงทุกภาคส่วน มาสนธิกำลังกัน และมีการประชุมแบ่งพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อน จัดทีมในการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยในการนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้

ส่วนสำหรับสาเหตุที่ต้องมีการปรับแผนนั้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุม โดยเราให้ความมั่นใจว่า เราคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องบริหารควบคู่กันไปบนหลักการ และเหตุผล ข้อเท็จจริง ฉะนั้นตอนนี้เราพยายามเต็มที่ ทำตลอดเวลา แต่บางครั้งที่เครื่องจักรไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายในตัวอาคาร จึงต้องมีการหยุด มิเช่นนั้นความเคลื่อนไหวของตัวอาคารอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปภายในตัวอาคาร จึงฝากทำความเข้าใจว่าเราพยายามเต็มที่และคำนึงถึงญาติของผู้ประสบภัยด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ได้มีการใช้เครื่องมือวัดเพื่อตรวจจับสัญญาณชีพของทีมนานาชาติ โดยยึดทางกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก เมื่อพบว่ามีการเคลื่อนไหว โดยจะเห็นว่าบางช่วงได้มีการขอให้หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อฟังให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยเมื่อจับความเคลื่อนไหวได้ก็จะให้ความสำคัญเรื่องการกู้ชีพไว้ก่อน แม้จะแค่ 20% ก็จะดำเนินการ โดยจัดแผนให้เจ้าหน้าที่มุดเข้าไปภายใต้อาคาร โดยยืนยันว่าจุดที่เครื่องสแกนแจ้งว่าจุดนี้ลึกเท่าไหร่อย่างไรนั้น เมื่อพบแล้วยืนยันเรื่องสัญญาอาชีพ หากมีสัญญาณชีพก็จะมี step ในการช่วย แต่หากไม่มีสัญญาณชีพก็จะให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้ที่ยังมีโอกาสอยู่

อีกทั้งในเวลา 19:00 น ทีมจะแบ่งงานกันไป 4 โซน และจะมาสรุปยืนยันว่าการค้นหารอบนี้ โดยจะฟังความเห็นของทีมนานาชาติ เนื่องจากเวลาก็ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว และจะฟังความเห็นจากทางการแพทย์เพื่อประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ และทางญาติเองก็มีความคาดหวัง อย่างน้อยก็ให้ได้ญาติเขากลับไป เราก็บริหารจัดการด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ก็พยายามทำให้เต็มที่และดีที่สุด

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat