ปอท. แถลงเปิดปฏิบัติการกวาดล้างผู้ค้าอาวุธปืนผ่านโซเชียล
วันนี้ (28 พ.ย. 66) เวลา 10:30 น. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำโดย พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.กฤษฎาพร ปานโปร่ง รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.2 บก.ปอท. และ พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท. แถลงผลการเปิดปฏิบัติการกวาดล้างผู้ค้าอาวุธปืนผ่านโซเชียลใน 3 เคส พร้อมตรวจค้นกว่า 21 จุด ทั่วประเทศ และจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 ราย โดยหนึ่งในนี้เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันมีและจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการจำหน่ายเครื่องกระสุนให้กับเยาวชนอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา
สืบเนื่องจากปัญหาการลักลอบซื้อขายอาวุธปืนเครื่องกระสุนที่มีอย่างแพร่หลายตามช่องทางต่าง ๆ ของออนไลน์ จนนำมาสู่การก่อเหตุอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีบางกรณีที่เป็นการหลอกลวงฉ้อโกงเหยื่อว่า มีการซื้อขายอาวุธปืน แต่สุดท้ายไม่มีการส่งสินค้าให้จริง
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. จึงร่วมบูรณาการกับหลายหน่วยงานของตำรวจสอบสวนกลาง เปิดปฏิบัติการกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนผ่านโซเชียลมีเดีย จำนวน 3 กรณี ได้แก่ กรณีการตรวจต้นจับกุมกลุ่มเครือข่ายลักลอบซื้อขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์, กรณีหลอกลวงซื้อขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการปิดกั้น URL ที่มีการประกาศขายอาวุธปืนผ่านสังคมออนไลน์
เคสแรก ปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมกลุ่มเครือข่ายที่ลักลอบซื้อขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยสนธิกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มซื้อ-ขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 21 จุด ใน 12 จังหวัด ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, อุดรธานี, พิจิตร, เชียงใหม่, กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับผลปฏิบัติการครั้งนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 8 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ 1 ราย และเหตุซึ่งหน้า 7 ราย ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้ต้องหาราย 8 ราย คือ นายอภิเชษฐ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 999/2566 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ของ สน.ยานยาวา ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถจับกุมได้ที่บ้านพักใน จ.พระนครศรีอยุธยา เบื้องต้น พบอาวุธปืนจำนวนมาก แต่เป็นปืนที่มีทะเบียนถูกกฎหมายจึงไม่ได้ทำการตรวจยึดแต่อย่างใด ส่วนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยได้ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เจ้าของคดีดำเนินคดีแล้ว
จากการสืบสวนสอบสวนในทางคดี พบว่า นายอภิเชษฐ์ เป็นผู้ขายเครื่องกระสุนปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์และจำหน่ายพร้อมจัดส่งเครื่องกระสุน .38 ให้กับเยาวชนอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยพบว่าได้ไปส่งมอบกระสุนปืน ให้แก่เยาวชนผู้ก่อเหตุในวันเดียวกัน ก่อนที่ช่วงเย็นเยาวชนคนดังกล่าวจะลงมือก่อเหตุ
ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้ สามารถตรวจยึดของกลางได้เป็นอาวุธปืน จำนวน 12 กระบอก ได้แก่
1.อาวุธปืนยาว 4 กระบอก
2.อาวุธปืนสั้น 3 กระบอก
3.แบลงค์กัน 3 กระบอก
4.ปืนไทยประดิษฐ์ 2 กระบอก
5.เครื่องกระสุนอีกหลายขนาด รวม 110 นัด
6.อุปกรณ์ส่วนควบ เช่น ที่เก็บเสียง ลำกล้อง ชุดลั่นไก และลำกล้อง กว่า 22 ชิ้น
เคสที่ 2 เป็นปฏิบัติการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายที่ฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ จำนวน 8 ราย ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
โดยสืบเนื่องจากการสืบสวนพบว่า มีคนร้ายที่ฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2566 นำไปสู่การรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 10 ราย ก่อนจะสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้นได้ทั้งสิ้น 8 ราย ซึ่งผู้ต้องหา 5 รายแรก ให้การรับสารภาพว่า เป็นคนสร้างเพจเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เพื่อประกาศขายอาวุธปืน, แบลงค์กัน, ปืนปากกา, เครื่องกระสุนปืน ขึ้นมา เพื่อหลอกลวงประชาชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับอาวุธปืน โดยที่ไม่มีอาวุธปืนจริงๆ เมื่อประชาชนหลงเชื่อก็จะโอนเงินเพื่อซื้อขายอาวุธปืน แต่ปรากฏว่ากลายเป็นการโอนเงินเปล่า เพราะผู้ต้องหาไม่มีอาวุธปืนอยู่จริงและเชิดเงินหนี สาเหตุที่ทำเพราะอ้างว่ามันก็คือถูกกูมาก่อน บางรายก็เชื่อว่า เนื่องจากเป็นการซื้อขายอาวุธปืนผิดกฎหมาย ผู้เสียหายจึงไม่กล้าที่จะไปแจ้งความแน่นอน
ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 ราย ให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารหรือบัญชีม้า เพื่อรับโอนเงินจากการกระทำความผิดให้กับขบวนการดังกล่าว โดยจากการสืบสวนเส้นทางการเงิน พบว่า ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้นทั้ง 10 ราย ได้ก่อเหตุฉ้อโกงหลอกลวงผู้เสียหายมาแล้วมากกว่า 180 คน รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินมากกว่า 655,000 บาท ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 ราย อยู่ในระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี
ส่วนเคสที่ 3 เป็นปฏิบัติการปิดกั้น URL ที่มีการประกาศขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์
โดยตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อปิดกั้นเว็บเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ที่มีการประกาศขายอาวุธปืน, แบลงค์กัน, ปืนปากกา, ปืนไทยประดิษฐ์ และเครื่องกระสุนปืน โดยได้ทำการปิดกั้นไปแล้วทั้งสิ้น 146 URL แบ่งเป็น URL Facebook จำนวน 48 URL และ URL Twitter จำนวน 98 URL
ซึ่งทางตำรวจ ปอท. ยังคงจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกัน และปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่มีการโพสต์ประกาศขายอาวุธปืน ป้องกันการนำไปก่อเหตุอาชญากรรมต่อไป