ภาครัฐ ผนึกกำลังเตือนภัยออนไลน์ หารือแนวทางแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผนึกกำลัง 13 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษตำรวจ หรือหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ โทรศัพท์หรือส่งข้อความสั้นหลอกลวงประชาชน โดยอ้างเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กรมที่ดิน กรมสรรพากร กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย/ส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง/ส่วนภูมิภาค เพื่อชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชั่นควบคุมเครื่องโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารไป หรือส่งเอกสารปลอมข่มขู่ให้ประชาชนกลัว เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
สำหรับ สถิติการรับแจ้งความออนไลน์มีรายชื่อหน่วยงานของรัฐที่ถูก call center แอบอ้างนำไปหลอกลวงประชาชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 20,937 เคส ดังนี้ หน่วยงานราชการ 13,402 เคส, กรมสรรพากร 3,024 เคส, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 1,384 เคส, สถานีตำรวจ 1,303 เคส, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) 590 เคส, กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) 533 เคส, กรมศุลกากร 218 เคส, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 149 เคส, กรมที่ดิน 147 เคส, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย/ส่วนภูมิภาค 113 เคส, การประปานครหลวง/ส่วนภูมิภาค 51 เคส, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 16 เคส, กรมการค้าภายใน 4 เคส, กรมการจัดหางาน 3 เคส
อีกทั้ง สถิติการหลอกลวงในระบบรับแจ้งความออนไลน์มีทั้งหมด จำนวน 244,567 เคส ส่วนรูปแบบการหลอกลวงคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานของรัฐ มีจำนวน 20,937 เคส มูลค่าความเสียหาย จำนวน 3,328,454,052.35 บาท คิดเป็น 8.56 เปอร์เซ็นต์ ของรูปแบบการหลอกลวงทั้งหมด ข้อมูลตั้งแต่ วันที่ 1 มี.ค.2565 – 22 เม.ย.2566
เบื้องต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานหน่วยงานของรัฐที่ถูกแอบอ้างแล้ว ได้รับการยืนยันว่า ไม่มีการใช้วิธีติดต่อประชาชนในรูปแบบที่มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์แอบอ้าง จึงได้แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงวิธีการของคนร้าย จุดสังเกตุ และแนวทางการระวังป้องกันตนเองไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพตลอดมา แต่ปรากฏว่าปัจจุบันยังมีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอยู่เป็นจำนวนมาก
พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่ถูกแอบอ้างมาร่วมประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกหน่วยให้ความสำคัญและนำเสนอวิธีการแจ้งเตือนประชาชนที่แต่ละหน่วยได้ดำเนินการไปแล้ว และสิ่งที่จะร่วมมือกันดำเนินการ จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยออนไลน์ในรูปแบบของคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานรัฐ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพต่อไป