CRIME

‘ร.อ.ธรรมนัส’ นำทีมแถลงความก้าวหน้าขยายผลปฏิบัติการต่อต้าน นําเข้า-ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย

จ่อเอาผิด 9 บริษัทใหญ่ เผย ประเภทสินค้าไม่ตรงตามความเป็นจริง เตรียมยื่นดำเนินคดีปลอมแปลงเอกสารนำเข้าหมูเถื่อน เสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท

วันนี้ (25 มี.ค. 67) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวเกี่ยวกับความก้าวหน้าการดําเนินงานของหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช (ฉก.พญานาคราช) โดยมี พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พันเอก รวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว อาคารรัฐสภา

ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศสงครามปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้แต่งตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช” (ฉก.พญานาคราช) ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายปราบปรามการลักลอบนําเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา “ฉก. พญานาคราช” ได้ดําเนินการอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การลงพื้นที่สุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 66 พบการซุกซ่อนชิ้นส่วนสุกรปะปนอยู่ภายในตู้สินค้าประมงจำนวนมาก จากนั้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 ได้มีการตั้ง War room โดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ ร่วมกันตรวจสอบเอกสารประกอบการนําเข้าสัตว์น้ําของกรมประมง พบเอกสารที่มีการปลอมแปลง

ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนําเข้า-ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย ตรวจพบ 1 บริษัท แต่พบความผิดปกติมากถึง 220 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบใบรับรองสุขอนามัย สัตว์ (Health Certificate) ที่ผู้นําเข้าใช้ยื่นในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอนําเข้าและกรมประมงได้ทําการตรวจสอบ ยืนยันกับประเทศต้นทาง พบว่า ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health Certificate) ที่ประเทศต้นทางออกให้นั้น ปรากฏว่าเป็นสินค้าคนละประเภทกับที่ผู้นําเข้าใช้ยื่นกับกรมประมง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการแจ้งความต่อกรมสอบสวนกลางแล้ว 20 คดี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ฉก.พญานาคราช ได้แจ้งความต่อผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง จํานวน 1 ราย 220 คดี กรณีการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตนําเข้าสินค้าสัตว์น้ําต่อกรมประมง โดยได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้กับกองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง และมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้ คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ดังนั้น จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องนําพยานหลักฐานมาชี้แจงต่อพนักงานสอบสวน เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเจ้าหน้าที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนี้กรมประมงยัง จะดําเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม หากตรวจพบพฤติกรรมลักษณะดังกล่าวอีก ก็จะดําเนินคดีเช่นเดียวกันต่อไป

“ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย “ฉก.พญานาคราช” พร้อมเดินหน้าสางปมปัญหาของพี่น้องเกษตรกรในทุกมิติ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร มุ่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยทั้งระบบ รวมถึง เศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคง เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ด้าน พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้รับมอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบมาดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งได้รับแจ้งจากกรมประมงว่ามีบริษัทชิปปิ้ง 3-5 ราย นำใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ มาตรวจสอบพบว่าเป็นเอกสารปลอม และนำมาแจ้งที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย มีการยืนยันว่าเป็นใบเอกสารที่ไม่ได้ออกโดยต้นทาง หลังจากการตรวจสอบคาดว่าน่าจะมีมูลเหตุจูงใจอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ การหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อหลีกเลี่ยงการกักกันโรค ซึ่งในส่วนของการดำเนินคดีเบื้องต้น ขณะนี้ได้มีการออกหมายเรียกบริษัทตามที่อธิบดีกรมประมงได้แจ้งให้ทราบไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่ปรากฏว่าทางบริษัทได้แจ้งมาว่าขอขยายเวลาในการเข้าพบ เนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่จะใช้ในการชี้แจง นอกจากนี้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนขยายผลไปยังกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังต่อไป

ขณะที่ พันเอก รวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เนื่องจากขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการที่กำลังจ่อดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน จำนวน 9 บริษัท และคดีที่จ่อรออยู่ในลักษณะเดียวกัน 400 กว่าคดี ซึ่งกำลังรอหลักฐานประกอบการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวเป็นชุดเดียวกับที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำอยู่หรือไม่ นายบัญชา กล่าวว่าเป็นชุดเดียวกัน แต่ในส่วนของกรมประมง หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และศูนย์ป้องกันการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายได้นำมาขยายผลเพิ่มเติม ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีแก่บริษัทชุดที่ DSI ดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน แต่มีเพิ่มเติมอีก 5 บริษัท ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่สืบเนื่องจาก DSI ดำเนินคดีลักลอบการนำเข้าจำนวน 161 ตู้ แต่หลังจากที่มีการขยายผลเราสามารถตรวจสอบและพบหลักฐานเพิ่มเติม จึงเป็นที่มาที่ไปว่าเรามีการดำเนินคดีเพิ่มอีก 220 คดี ในเบื้องต้นจะมีการเพิ่มเติมอีก 400 กว่าคดี ซึ่งหมายความว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท และยืนยันว่าจะมีการดำเนินการสืบสวนขยายผลต่อไป

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat