CRIME

ที่ประชุมคณะทำงานอัยการ-ตำรวจ มีมติเเจ้งข้อหา ‘อดีตผู้การชลบุรี’ พร้อมพวก เพิ่มผิด พรบ.อุ้มหายฯ

ที่ประชุมคณะทำงานอัยการ-ตำรวจ มีมติเเจ้งข้อหาเพิ่ม ‘อดีตผู้การชลบุรี’ พร้อมพวก ผิด พรบ.อุ้มหายฯ เตรียมออกหมายเรียกรับทราบข้อหา 12-13 ก.พ.นี้

วันนี้ (25 ม.ค. 67) ที่ห้องประชุมตึกกองบังคับการกฎหมายเเละคดีตำรวจภูธรภาค 1 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 คณะพนักงานสอบสวนคดีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับทรัพย์จากเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ 140 ล้านบาท นำโดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าชุดคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนชุด เเละคณะอัยการเเละตำรวจรวมประชุมคับคั่ง ประชุมร่วมกับคณะทำงานกรณีมีผู้เสียหายแจ้งดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีต ผบก.ภ.จว.ชลบุรี พร้อมพวกรวม 10 คน เรียกรับเงินกว่า 140 ล้านบาท

พล.ต.ท.อัคราเดช กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการสอบพยานกว่า 130 ปาก รวมถึงพิจารณาที่จะดำเนินคดีคนใดบ้าง ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่า จะมีผู้ถูกเเจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 22 ราย โดย พล.ต.ต.กัมพล อดีต ผบก.ภ.จว.ชลบุรี โดนเเจ้งข้อหา พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ด้วย

นายวัชรินทร์ กล่าวว่า จากการประชุมได้บทสรุปความผิดในคดี พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ โดยมีการเเจ้งข้อหาผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจ 17 นาย และมีพลเรือนอีก 4 นาย ซึ่งครั้งนี้มีมติให้เเจ้งข้อหารายใหม่เพิ่มอีก 1 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับ พล.ต.ต.กัมพล อดีต ผบก.ภ.จว.ชลบุรี กับพวกรวม 21 เดิมพนักงานสอบสวนชุดเดิม ได้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 149 เความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 และข้อหาอื่น ๆ แต่วันนี้มีการพิจารณาว่าเข้าตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ส่วนที่มีพลเรือนโดนข้อหานี้ด้วย เพราะ พรบ.ฉบับนี้ได้บทนิยามถือไว้เลยว่า แม้ไม่ใช่เจ้าพนักงาน แต่เจ้าพนักงานให้ทำหน้าที่หรือให้ช่วยเหลือ ก็ถือว่ามีการกระทำความผิด สว่นนี้ไม่ได้เป็นการสนับสนุน แต่เป็นการร่วมกันกระทำผิด

ส่วนจะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นส่งอัยการปราบปรามทุจริตฯ เมื่อไหร่นั้น นายวัชรินทร์ กล่าวว่า จะต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเติมก่อน ต้องทำหนังสือออกหมายเรียกไปให้ผู้ต้องหาทั้ง 22 ราย มาพบพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 12 เเละ13 ก.พ. 67 หลักสำคัญคือการจับกุมผู้ต้องหาต้องมีการแจ้งการจับตามมาตรา 22 หลังจากแจ้งแล้วต้องส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี แต่ถ้าเกิดมีการจับแล้วไม่ได้นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฏหมาย จะถือว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 7

นายวัชรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนต้องสรุปสำนวนทำความเห็นในคดี ซึ่งเราให้สิทธิ์ผู้ต้องหาอ้างพยานหลักฐานเข้ามาได้ การแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะสรุปสำนวนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เพียงแต่เป็นการเริ่มต้นการสอบสวนที่เห็นว่ามีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าน่าจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ต้องหามีสิทธิ์โต้แย้งหรือนำพยานหลักฐานเข้ามาให้สอบได้ ซึ่งกำหนดเวลาไว้ว่าจะต้องเสร็จภายใน 60 วัน โดยคดีนี้ตั้งเเต่เริ่มเเรก พนักงานสอบสวนไม่มีการยื่นฝากขังผู้ต้องหาแต่อย่างใด ส่วนที่เเจ้งข้อหาเพิ่มก็ไม่ต้องยื่นฝากขัง ถือเป็นการแจ้งข้อหา

“ผู้ต้องหาชุดนี้ข้อหาเดิมมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 157 แล้วก็มีพวกกักขังหน่วงเหนี่ยว นั่นคือข้อหาเล็ก ๆ วันนี้ที่เเจ้งเพิ่มก็คือ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ” นายวัชรินทร์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend