CRIME

ตร.แจง ภาพเสื้อเกราะ เป็นเส้นใยไม่ใช่ไม้อัด เลิกใช้งานมาแล้ว 8 ปีแล้ว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจง กรณีปรากฏภาพเสื้อเกราะไม้อัด ชี้ ชุดที่ปรากฏ เป็นเส้นใยไม่ใช่ไม้อัด เลิกใช้งานมาแล้ว 8 ปี ยัน การจัดหาชุด คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และยึดตามหลักมาตรฐานสากล พร้อมพาสื่อทดสอบเลื่อย – ทดลองยิง

วันนี้ (24 ก.ค. 67) เวลา 14:00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (พสฐ.ตร.) พล.ต.ต.นิรันดร ศิริสังข์ไชย ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวชี้แจงกรณีเสื้อเกราะที่มีการเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียว่าวัสดุด้านในเสื้อเกราะเป็นไม้อัด

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายในการจัดซื้อจัดหาเสื้อเกราะกันกระสุนสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการจัดหาเสื้อเกราะแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาจะต้องสามารถบอกแหล่งที่มาของแผ่นเกราะว่าผลิตจากที่ใด เมื่อใด และเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ ที่กำหนดหรือไม่

ซึ่งในการตรวจรับก็จะมีการยิงทดสอบด้วยกระสุนปืนในระยะห่างตามมาตรฐานที่ NIJ กำหนดด้วย อายุการใช้งานของเสื้อเกราะตามมาตรฐานของ NIJ ที่ได้กำหนดเพื่อรับรองประสิทธิภาพสูงสุดของแผ่นเกราะอยู่ที่ 5 ปี แต่ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิน 5 ปีแล้วจะไม่สามารถกันกระสุนได้ เพียงแต่ประสิทธิภาพอาจลดลง ซึ่งในบางประเทศหรือผู้ผลิตที่กำหนด Lifespan ของเสื้อเกราะไว้มากกว่า 5 ปี

นอกจากนี้ ในการจัดหาเสื้อเกราะ ได้กำหนดการประกันคุณภาพเสื้อเกราะ รวมทั้งประกันชีวิต และประกันการบาดเจ็บของผู้สวมใส่ไว้ตามระยะเวลาข้างต้นด้วย หากได้รับบาดเจ็บ จะได้รับเงินประกัน 500,000 บาท หรือหากเสียชีวิตจะได้รับเงินประกัน 1,000,000 บาท

สำหรับ เสื้อเกราะที่ปรากฏตามภาพในโซเชียลมีเดีย ที่มีหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 นั้น เป็นเกราะที่ ตร. เคยใช้ในราชการ โดยเป็นหนึ่งในเสื้อเกราะที่ได้สั่งซื้อเมื่อเดือนเมษายน 2553 จำนวน 650 ตัว (เป็นเสื้อเกราะพร้อมแผ่นเกราะแข็ง ระดับ 3 จำนวน 500 ตัว และเป็นเกราะอ่อน อีก 150 ตัว) โดยทุกตัวมีมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานของ NIJ และวัสดุที่ใช้เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ราคาในการจัดซื้อสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ และมีอายุการใช้งาน 5 ปี ปัจจุบันเสื้อเกราะดังกล่าวเลิกใช้งานแล้ว โดยหมดอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว โดยหมดอายุการใช้งานเมื่อปี 2559 และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการจำหน่าย และทำลายตามระเบียบราชการ

อีกทั้งเพื่อเป็นการยืนยันถึงวัสดุ และมาตรฐานของเสื้อเกราะข้างต้น ตร. ได้มอบหมายให้ สพฐ.ตร. นำเสื้อเกราะดังกล่าวไปตรวจทางเคมีในห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจสอบพบว่า วัสดุภายในเป็นเส้นใยโพลีเอทิลีน ทับกันเป็นชั้นโดยในแต่ละชั้นใช้ตัวเชื่อมประสาน ซึ่งมีสเปค และคุณลักษณะถูกต้องตามสัญญาการจัดซื้อทุกประการ และเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ รวมทั้งยังได้ทดสอบการยิงกระสุนจริงใส่เสื้อเกราะในล็อตเดียวกันที่ซื้อมาเมื่อปี 2553 อีกจำนวน 3 ตัว โดยใช้กระสุนขนาดตั้งแต่ 9 มม. ขนาด .357 และขนาด .45 อย่างละ 3 นัด รวมจำนวน 9 นัด ผลปรากฏว่า เสื้อเกราะทั้ง 3 ตัวสามารถกันกระสุนได้ทั้งหมด ไม่มีกระสุนนัดใดทะลุเสื้อเกราะ

อย่างไรก็ตาม ตร. ได้กำหนดแผนการจัดหาเพิ่มเติมหรือการจัดหาเพื่อทดแทนของเก่าอย่างต่อเนื่อง การจัดหาครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,200 ตัว เป็นเสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุนพร้อมแผ่นเกราะแข็ง ระดับ 3 และระดับ 4 สามารถป้องกันกระสุนปืนได้ตามมาตรฐาน NIJ ได้แก่ กระสุนปืนพก ขนาด 9 มม. ขนาด .45 และ.357 แม็กนั่ม นอกจากนั้น ตร.ได้ทำแผนการจัดหาในอนาคตเพื่อให้ครอบคลุมในการปฏิบัติงานของตำรวจทุกนายระหว่าง ปี 2567 – 2571 อีกปีละประมาณ 13,000 ตัว ซึ่งตามแผนการจัดหานี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีเสื้อเกราะใช้งานอย่างทั่วถึง

ด้าน พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า ภาพเกราะที่ปรากฏตามสื่อโซเชียลเป็นเกราะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในชุดจัดซื้อ 8A154338 จริง แต่เศษไม้ลักษณะสามเหลี่ยมที่วางอยู่บนเกราะ โดยยืนยันว่า ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเกราะแน่นอน แต่เป็นชิ้นส่วนจากสิ่งใดยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากภาพที่โพสต์เป็นการครอปภาพแบบแคบจนไม่เห็นภาพรวมของเสื้อเกราะ

โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐานได้รับแผ่นเกราะมาทดสอบเพื่อหาคำตอบว่าวัสดุภายในเป็นสิ่งใดบ้าง โดยเจ้าหน้าที่นำมาชำแหละตรวจสอบโครงสร้างวัดขนาด ชั่งน้ำหนัก จากนั้นได้ตรวจสอบทางกายภาพ พบว่า วัสดุของเกราะมีการวางซ้อนกันด้วยผ้าแผ่นบางๆ ซ้อนกันมากกว่า 100 ชั้น

เมื่อถ่ายจากกล้องวีดีโอไมโครสโคป 3D กำลังขยาย 1,500 ขึ้นไปจะพบว่าวัสดุของเกราะเป็นเส้นใย โพลีเอทิลีน ผสมกับพอลิสไตรลีนอัดด้วยกำลังอัดแน่นความดันสูงจนทำให้ผ้าทั้งหมดรวมตัวกันจึงมีลักษณะเหมือนของแข็ง

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า คุณสมบัติของเส้นใหญ่โพลีเอทิลีน เมื่อผ่านกระบวนการผลิตเทคนิคพิเศษทำให้เกิดความแข็งแรง และมีน้ำหนักเบา เมื่อมาใช้กันกระสุนคุณสมบัติของเส้นใยชนิดนี้ กระสุนจะถูกจับยึด ด้วยเส้นใย เส้นใยเหล่านี้จะดูดซับ และกระจายพลังงานของหัวกระสุนปืน เป็นผลให้กระสุนนั้นบิดเบี้ยวหรือเสียรูปไปจนไม่สามารถทะลุเกาะได้

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายถึงข้าราชการตำรวจว่า ผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีความเป็นห่วงในการที่พวกท่านต้องออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชน สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดหาให้ และขอให้เชื่อมั่นว่าอุปกรณ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดซื้อจัดหาให้นั้นเป็นไปตามมาตรฐาน และขอให้สวมใส่เสื้อเกราะกันกระสุนในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง เพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันมิให้มีการสูญเสียจากการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ได้เปิดคลิปวิดีโอยิงทดสอบเสื้อเกราะระบุหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ปรากฏในภาพดังกล่าวให้รับชมด้วยอาวุธปืนพกทั้ง 3 แบบ รวมถึงได้นำเสื้อเกราะตัวดังกล่าวมาทดลองให้สื่อมวลชนชายได้นำมาทดสอบเลื่อยด้วยตนเอง ซึ่งพบว่าเกราะดังกล่าวยังมีความเหนียว และไม่สามารถตัดเข้าได้สำเร็จ และภายหลังการแถลงข่าว พล.ต.ท.ไตรรงค์ ได้นำเสื้อเกราะตัวเดียวกันไปทดสอบยิงที่ห้องปฏิบัติการ ด้วยอาวุธปืนพก 3 แบบ ในระยะยิง 5 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่อาวุธปืนทั้ง 3 ชนิดสามารถแสดงผลความเสียหายได้ดีที่สุด โดยปรากฏร่องรอยการกระสุน บริเวณท้อง ไหล่ซ้าย-ขวา ซึ่งพบกระสุนทั้งหมดฝังอยู่ในเสื้อเกราะ ไม่ได้ทะลุออกไป โดยมีสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat