DSI คืนรถที่ถูกโจรกรรม 30 คัน ให้กับประเทศอังกฤษ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
DSI คืนรถที่ถูกโจรกรรม 30 คัน ให้กับประเทศอังกฤษ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เร่งติดตามอีก 5 คัน ส่งคืนเพิ่มเติม
วันนี้ (19 ก.ค. 67) เวลา 10.30 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย หน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักร (NCA) นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานคดีพิเศษ ผู้แทนอัยการสูงสุด คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ร่วมแถลงการส่งมอบรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทย 30 คัน คืนแก่ประเทศอังกฤษ และเร่งรัดติดตามรถยนต์อีก 5 คัน ส่งคืนเพิ่มเติม
สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับการร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากประเทศอังกฤษ ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สืบสวนกรณีที่มีกลุ่มบุคคลโจรกรรมรถยนต์หรูจากประเทศอังกฤษนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย โดยช่วงระหว่างปี พ.ศ.2559-2560 นายอินทระศักดิ์ หรือ ‘บอย ยูนิตี้’ ร่วมกับคนไทยและคนต่างชาติ เช่าซื้อรถยนต์หรูจากบริษัทต่าง ๆ ในอังกฤษ และสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรอังกฤษว่าเป็นรถยนต์ใหม่ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อส่งออกทางเครื่องบินมายังสิงคโปร์ และส่งออกจากสิงคโปร์ทางเรือเข้ามาในไทยอีกทอดหนึ่ง มีทั้งสิ้น 35 คัน จำนวน 13 ยี่ห้อ
ทั้งนี้ รถยนต์ที่นำเข้ามาล้วนเป็นรถที่มีราคาแพง ซึ่งมีราคารวมในอังกฤษมากกว่า 100 ล้านบาท ทางการของประเทศอังกฤษจึงประสานมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ทำดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวและติดตามรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมกลับคืน กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงรับเรื่องไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 78/2561 และเนื่องจากการกระทำความผิดส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดจึงมอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวน และมอบหมายพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มาร่วมสอบสวน
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมอบหมายให้ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทางการสอบสวนพบว่า รถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมีการนำเข้ามาในประเทศไทยสำเร็จโดยกลุ่มผู้กระทำความผิดได้ใช้บริษัท 3 ราย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นผู้นำเข้า โดยนำเอกสารมาสำแดงและเสียภาษีต่อกรมศุลกากรเพื่อให้เป็นรถยนต์ที่ถูกต้อง สามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ จากนั้นขายต่อให้ประชาชนทั่วไปในประเทศไทย
ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดปฏิบัติการ “Titanium Operation เข้าตรวจค้นจุดต้องสงสัยในกรุงเทพมหานคร 9 จุด ขยายผลสู่การตรวจยึดรถยนต์ทั้งสิ้น 30 คัน พร้อมดำเนินคดีกับนายอินทระศักดิ์ และพวก รวม 13 คน ในความผิดฐาน
1.ร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันรับของโจรเพื่อค้ากำไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) และมาตรา 357 วรรคสอง
2.ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง และมาตรา 268
3.ร่วมกันหลีกเลี่ยงข้อกำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง
4.ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (1) (2) (3) (4)
5.ฐานอั้งยี่หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และเนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งคดีในชั้นสอบสวนคืออัยการสูงสุด
ต่อมาหลังจากที่อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้ว มีคำสั่งให้จัดการของกลางรถยนต์ทั้ง 30 คัน โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าเมื่อพนักงานอัยการไม่ได้ขอริบย่อมมีเหตุที่จะคืนรถยนต์ของกลางให้กับผู้เสียหายชาวอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนรถยนต์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการประสานงานผ่าน NCA ในการคืนรถยนต์ในวันนี้