นิติเวช จุฬาฯ เผยผลชันสูตรชาวต่างชาติ พบ ‘ไซยาไนด์’ ในเลือด ทั้ง 6 ราย
อยู่ระหว่างการตรวจเลือดเชิงลึก หาสารประกอบอื่นในร่างกาย ด้าน รอง ผบช.น. สั่งตรวจสอบย้อนหลังที่มาของไซยาไนด์
วันนี้ (17 ก.ค. 67) เวลา 15:00 น. ที่นิติเวชจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงผลการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นของแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด จากการชันสูตรพลิกศพร่างผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติทั้ง 6 ราย ที่โรงแรมย่านราชประสงค์
รศ.นพ.กรเกียรติ เปิดเผยว่า เราได้มีส่วนร่วมในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และนำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดมาตรวจชันสูตร ทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย ผู้หญิง 3 ราย และ ผู้ชาย 3 ราย ทราบชื่อนามสกุล และเชื้อชาติทั้งหมด
สำหรับการพิสูจน์เรื่องระยะเวลาการเสียชีวิต เบื้องต้นแพทย์ประเมินในที่เกิดเหตุว่าระยะเวลาการเสียชีวิตทั้งหมด 12 – 24 ชั่วโมง จากการตรวจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต เบื้องต้นไม่พบร่องรอยของการถูกทำร้าย โดยพบว่าทุกรายมีร่องรอยการขาดอากาศหายใจ โดยมีริมฝีปากเป็นสีม่วงเข้ม และเลือดที่พบสีค่อนข้างแดงสดแตกต่างจากกรณีทั่วไป จึงตั้งขอสันนิษฐานว่าเกิดจากสารพิษผ่านระดับเซลล์ เข้าสู่ระบบประสาท และหัวใจ
เมื่อมีการผ่าชันสูตร และนำเลือดไปตรวจ พบสารไซยาไนด์ ทำให้แพทย์ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การเสียชีวิตเกิดจากพิษของไซยาไนด์ ทั้งนี้ ต้องรอผลการตรวจเลือดยืนยันอีกครั้งอย่างละเอียด อาจจะใช้ระยะเวลา 1-2 วันเพื่อความชัดเจน และพิสูนย์ว่ามีสารพิษชนิดอื่นด้วยหรือไม่
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวถึงการลำดับผู้เสียชีวิต ว่าใครเสียชีวิตก่อนหรือหลังนั้น ไม่สามารถแยกได้ เนื่องจาก เราตรวจสอบจากการแข็งตัวกล้ามเนื้อ และการตกเลือด ที่บ่งบอกได้แค่ช่วงเวลาเท่านั้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเสียชีวิตกี่โมง พร้อมยอมรับว่า การตามหาสารไซยาไนด์บนพื้นผิวของร่างกาย ต้องใช้ของเหลวในการสกัด แต่ครั้งนี้ทีมแพทย์ได้ใช้เลือดในร่างกายของผู้เสียชีวิตในการตรวจ
รศ.นพ.ฉันชาย อธิบายอีกว่า เบื้องต้นจากลักษณะที่ตรวจพบทั้งภายนอกและอวัยวะภายในไม่พบว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตนอกจากสารไซยาไนด์ โดยต้องรอผลตรวจอวัยวะภายในเชิงลึกเพื่อหาสารบางอย่างเพิ่มเติม
แต่ตามปกติแล้วหากได้รับสารไซยาไนด์ในปริมาณเกิน 3 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 ซีซี จะเสียชีวิตทุกราย นอกจากนั้นจะขึ้นกับการรับเข้าสู่ร่างกาย หากรับในปริมาณมากผ่านการกินดื่ม จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหงื่อออก ชักเกร็ง เพราะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน ก่อนเสียชีวิตภายในเวลาหลักนาที แต่หากได้รับในปริมาณน้อย จะทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ใช้เวลากว่าจะเสียชีวิต
พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวถึงที่มาของสารไซยาไนด์ว่า ตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็น คือเตรียมการนำเข้ามาก่อนเข้าประเทศไทย หรือหาซื้อในประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งได้สั่งการให้ตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. ที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเริ่มเดินทางเข้าประเทศไปจนถึงวันที่ 12 ก.ค. และยอมรับว่า ขณะเดินทางผ่าน ตม.ไม่สามารถตรวจหาสารเหล่านี้ได้ รวมถึงไม่สามารถยืนยันว่า ผู้ใดคือผู้นำเข้า ต้องรอการสืบสวนให้เสร็จสิ้นชัดเจนก่อน
สำหรับขั้นตอนหลังจากชันสูตรแล้ว ตำรวจจะรอรายงานผลการชันสูตรจากแพทย์เพื่อนำไปประกอบในสำนวน