CRIME

ผู้ช่วย ผบ.ตร.เผยการตรวจค้น ‘กองสลากพลัส’ ไม่ได้กลั่นแกล้ง ตรวจสอบทุกแพลตฟอร์ม

ผู้ช่วย ผบ.ตร. เผย การเข้าตรวจค้น ‘กองสลากพลัส’ เป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน ยืนยัน ไม่ได้กลั่นแกล้ง เพราะตรวจสอบทุกแพลตฟอร์ม ด้าน ผอ.สำนักงานสลากฯ ระบุ พบการร้องเรียนว่าปล่อยให้เยาวชน ซื้อโดยไม่คัดกรอง ชี้ หวยเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง เตรียมตัดสิทธ์ผู้ค้าที่นำมาขายต่อทุกราย

วันนี้ (16 ม.ค. 66) เวลา 11:45 น. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และกรมสรรพกร ร่วมแถลงข่าว ภายหลังนำหมายคันเข้าตรวจสอบ ภายในอาคารที่ตั้งของสำนักงานบริษัทลอตเตอรี่ออนนไลน์ จำกัด (กองสลากพลัส) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขายสลากกินแบ่งรัฐบาลออนไลน์

พล.ต.ท.ประจวบ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ปคบ. มีแพลตฟอร์มที่จำหน่ายสลากฯ ที่เกินราคาตามที่กฎหมายกำหนด และมีโฆษณาจำหน่ายสลากฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้สงสัยว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ได้รับสิทธิ์การจำหน่ายจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทางพนักงานสอบสวนจึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาล เพื่อขอเข้าตรวจค้นในวันนี้

พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวต่อว่า การตรวจค้นในครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบสลากฯ ที่โฆษณาขายนั้นมีจริงหรือไม่ รวมทั้งการดำเนินการของแพลตฟอร์มได้มีการขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตาม พ.ร.บ.ขายตรงฯ ด้วยหรือไม่ อีกทั้ง ยังมีกรมสรรพากร กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินเกี่ยวกับรายได้ จากที่มีการโฆษณาว่ามีเงินรายได้ต่อปีสูง และการตรวจสอบเสียภาษี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

พ.ท.หนุน เปิดเผยว่า นอกจากจะพบ เรื่องการจำหน่ายสลากเกินราคาแล้ว ทางแพลตฟอร์มยังไม่มีการคัดกรอง ปล่อยให้มีบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อสลากฯ และยังมีการร้องเรียนว่าโฆษณาชวนเชื่อให้มาซื้อสลากฯ ซึ่งผิดกฎหมายเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี ปี 2551 ระบุว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลคือการพนันชนิดหนึ่ง ไม่สามารถโฆษณาชักชวนให้มาซื้อได้ เว้นแต่การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่เคยโฆษณาชักชวนในลักษณะดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า กองสลากพลัส กับ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คือคนละหน่วยงานกัน และไม่ได้ให้สิทธิ์กองสลากพลัสนำสลากฯ ไปจำหน่าย

ในกรณีที่มีสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวการถูกรางวัลที่ 1 หรือเข้าข่ายโฆษณาชักชวนให้ซื้อสลากฯ นั้น ผู้อำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุว่า สื่อมวลชนแต่ละสำนักต้องระมัดระวังในกรณีดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ได้ทำหนังสือตักเตือนสื่อบางสำนักไปบ้างแล้ว

ส่วนการแจ้งความดำเนินคดี ทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ร้องทุกแพลตฟอร์มที่ขายสลากทางออนไลน์รวม 15 แพลตฟอร์ม ซึ่งทั้งหมดได้กว้านซื้อสลากจากผู้ที่ได้รับโควต้ากว่า 2 แสนราย ทั้งบุคคลและนิติบุคคลมาขายต่อ โดยเปิดเผยด้วยว่าซื้อมาในราคาที่สูงกว่า 80 บาท แต่นำมาขายในราคา 80 บาท ซึ่งในหลักธุรกิจแล้วไม่สามารถทำได้เพราะขาดทุน และทำให้ราคาในท้องตลาดต้องขายสูงกว่า 80 บาทไปด้วย

สำหรับการตรวจสอบสลากฯ ในงวดวันที่ 17 มกราคม ที่อยู่ในกองสลากพลัสนั้นมีอยู่ประมาณ 11 ล้านใบ หลังจากนี้จะตรวจสอบผู้ได้รับโควต้าและนำมาขายต่อ และจะตัดสิทธิ์ทุกราย เนื่องจากมีข้อกำหนดอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าห้ามขายช่วง หรือนำสลากไปขายส่งเด็ดขาด ซึ่งคาดว่าจะสามารถตัดสิทธิ์โควต้าได้ภายในงวดวันที่ 1 เมษายนนี้ เนื่องจากการจองสลากฯ ได้จองล่วงหน้าไปแล้ว

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ยังระบุถึงเงินรางวัลของสลากฯ ในแต่ละงวดจะคิดเป็นสัดส่วนของการจำหน่ายสลากฯ โดยร้อยละ 60 จะเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายสลากในแต่ละงวด ตัวอย่างเช่น หากขายสลากฯ งวดละ 100 ล้านใบ จะมีรายได้ 8,000 ล้านบาท เงินที่จะจ่ายของการขึ้นรางวัลจะอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท โดยจะยึดตามบัตรประชาชนของผู้ที่นำมาขึ้นเงินรางวัลซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่ต้องนำมาเสียภาษีประจำปี

แต่แพลตฟอร์มดังกล่าวได้โฆษณาเรื่องการจ่ายเงินรางวัลโดยที่ไม่หักภาษี และการซื้อขายสลากได้โอนเงินผ่านบัญชีนิติบุคคล แต่เมื่อไปขึ้นเงินรางวัลได้ขึ้นเงินผ่านบัตรประชาชนของบุคคล ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบกับกรมสรรพากรอีกครั้งว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีประจำปีหรือไม่

อีกทั้ง ผู้ที่ถูกรางวัล ก็จะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินที่ทางแพลตฟอร์มโอนให้ไปนั้น เป็นเงินมาจากที่ใด และถือว่าเป็นเงินได้ที่จะต้องนำมาคิดภาษีประจำปี ไม่ถือว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงขอให้ผู้บริโภคตัดสินใจให้ดีก่อนเลือกซื้อสลากผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

โดยตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้เข้ามาร่วมตรวจสอบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ขายตรง ว่าเข้าข่ายผิดหรือไม่ เบื้องต้นก็ได้พยานหลักฐานไปพอสมควร นอกจากนั้นยังต้องตรวจสอบถึงการโฆษณาว่าจะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน รวมทั้งพ.ร.บ.การพนัน ด้วยหรือไม่ ซึ่งก็จะเสนอให้ตำรวจพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป

ขณะที่ สำนักงานปปง. จะตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ได้ข้อมูลมาว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน รวมทั้งการรับโอนเงินกับกลุ่มทำธุรกิจผิดกฎหมาย โดยจะนำกฎหมายของปปง. มาบังคับใช้ หากพบความผิดชัดเจนก็จะตรวจยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงินได้

ส่วนกรมสรรพากร ก็จะตรวจสอบการเสียภาษี หลังจากที่ได้ตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัท มาอย่างต่อเนื่องมาสักระยะหนึ่งแล้ว วันนี้ก็จะขอตรวจสอบเอกสารการเสียภาษีเพิ่มเติม ทั้งบัญชีการเงินและเอกสาร เบื้องต้นยังพบว่า ระบบการเงินของบริษัทนี้ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากมีทั้งบัญชีการเงินของนิติบุคคล และบุคคล รวมทั้งเงินการขึ้นเงินรางวัลที่ตามข้อมูลได้ว่าการซื้อขายสลากเป็นเงินของนิติบุคคล แต่การขึ้นเงินรางวัลมาจากบุคคล ก็จะต้องประสานงานกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม

ขณะที่ พล.ต.ต. นภัสวุฒิ เลี่ยมสงวน ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในฐานะชุดสืบสวนการจำหน่ายสลากเกินราคา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ทดลองซื้อสลากฯ ผ่านทางแพลตฟอร์มกองสลากพลัส 70 ใบ โดย 69 ใบ เป็นของงวดวันที่ 17 มกราคม และอีก 1 ใบ เป็นของงวดวันที่ 2 มกราคม และวันนี้ได้เข้ามาตรวจสอบว่ามีสลากฯ ไว้ให้ตรวจสอบจริงหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด แต่จะตรวจสอบการอนุญาตจำหน่ายสลากฯ ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งก็จะตรวจสอบเส้นทางการเงินประกอบด้วย และจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท. โทประจวบ ระบุว่า วันนี้จะยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหารกองสลากพลัส แต่จะเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานจากทุกหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบ พร้อมยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้งแพลตฟอร์มกองสลากพลัส แต่อยู่ในกลุ่มต้องสงสัยในการกระทำความผิด โดยเฉพาะการจำหน่ายสลากโดยที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากสำนักงานสลากฯ รวมทั้งความผิดอื่นๆ ซึ่งก็จะเข้าตรวจค้นในทุกแพลตฟอร์มเช่นกัน

Related Posts

Send this to a friend