ตำรวจสอบสวนกลาง ทลายเครือข่าย ‘เบล 1,000 กระบอก’

ค้าอาวุธปืนข้ามชาติ เงินหมุนเวียนกว่า 150 ล้านบาท พบส่วนใหญ่เป็นปืนสวัสดิการรัฐ
วันนี้ (13 มิ.ย.65) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยด้วย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., นายกมลสิษฐ์ วงษ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. และคณะฯ ร่วมกันแถลงผลการจับกุมภายหลังทลายเครือข่ายค้าอาวุธปืนข้ามชาติ “เบล 1,000 กระบอก” โดยปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุม นายดนุพล หรือ เบล (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ที่บ้านพักบริเวณ หมู่ที่ 4 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และพวกรวม 16 คน ในความผิดฐาน “ร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดฐานฟอกเงิน และมีการกระทําความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน” เบื้องต้นกลุ่มผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พร้อมตรวจยึดของกลาง ประกอบด้วย
1.รถยนต์ จํานวน 6 คัน
2.บ้านในความครอบครองของนายดนุพลฯ จํานวน 2 หลัง
3.เรือจํานวน 5 ลํา คือ เรือประมง 4 และเรือโดยสาร 1 ลำ
4.อาวุธปืน จํานวน 17 กระบอก
5.กระสุนปืนกว่า 10,000 นัด
6.ใบ ป.3 (การขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน) จำนวน 36ใบ
7.ใบ ป.4 (การขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน) จํานวน 490 ใบ
8.สมุดบัญชี จำนวน 28 เล่ม
สำหรับพฤติการณ์ในคดีสืบเนื่องจากปี 2561 เจ้าหน้าที่ตํารวจสืบทราบข้อมูลว่านายดนุพล ฉายาเบล ร้อยกระบอก ถูกชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนเกี่ยวกับการนําเอกสารผู้อื่นไปสวมสิทธิในการขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน (ป.3) ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย.2563 เจ้าหน้าที่ตํารวจ และหน่วยทหาร ได้ร่วมกันจับกุมขบวนการค้าอาวุธสงคราม พร้อมของกลางอาวุธปืนสงคราม จํานวน 25 กระบอก เครื่องกระสุนปืนกล ลูกระเบิดขว้างสังหารหลายรายการ ซึ่งผู้ต้องหาบางรายรับว่าเคยซื้ออาวุธปืนพกสั้นจากนายดนุพล หรือเบลไปจําหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน
ต่อมาวันที่ 30 ก.ค.2564 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจังหวัดหนองคาย ได้ตรวจยึดอาวุธปืน ขนาด .22 จํานวน 35 กระบอก และจับกุมนายธัมนองฯ นําส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองหนองคายดําเนินคดี ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองหนองคายได้ยื่นคําร้องต่อศาลออกหมายจับนายดนุพล นายพลเทพฯ หรือบอม เพื่อดําเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร, ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตพาอาวุธปืนไป ในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และร่วมกันนําอาวุธปืนผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี หรือเจ้าพนักงานที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง”
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตํารวจยังพบพยานหลักฐานสําคัญว่าขบวนการนี้มีแผนประทุษกรรมซับซ้อน โดยกลุ่มของนายดนุพล นำเอาชื่อบุคคลอื่น หรือคนในขบวนการมาขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน (ป.3) มากกว่า 2,000 ใบ ประกอบไปด้วย อาวุธปืนลูกซองขนาด.22 และอาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 มม. โดยบุคคลที่มาขอออกใบ ป.3 ส่วนใหญ่มีพฤติการณ์ที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย อ้างว่าขอมาใช้เพื่อการกีฬา บางส่วนไม่ทราบถึงสาเหตุในการยื่นคําร้องขอใบ ป.3 โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนแบบ ป.3 ร่วมดําเนินการปลอมเอกสารและออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) ซึ่งเป็นเอกสารเท็จให้
เมื่อได้รับใบอนุญาตซื้ออาวุธปืนที่เป็นเอกสารเท็จแล้ว จะทําการซื้ออาวุธปืนที่ร้านจําหน่ายอาวุธปืน ส่งอาวุธปืนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และจําหน่ายในตลาดมืดภายในประเทศด้วย จากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มขบวนการดังกล่าวจะได้กําไรจากการจําหน่ายอาวุธปืนกระบอกละ 30,000 –50,000 บาท เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินยังพบเงินหมุนเวียนในขบวนการมากกว่า 150 ล้านบาท
ต่อมาในวันที่ 13 มิ.ย.2565 เจ้าหน้าที่ตํารวจ บก.ป. และเจ้าหน้าที่ ปปง. กว่า 200 นาย จึงได้สนธิกําลัง “ปฏิบัติการทลายเครือข่ายค้าอาวุธ เบล 1,000 กระบอก” เข้าตรวจค้นทั้งหมด 21 จุด ทั่วประเทศ จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าวได้ทั้งสิ้น จํานวน 16 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มนายทุน
2.กลุ่มนายดนุพล ซึ่งมีหน้าที่หาคนทําใบ ป.3 และขนส่งอาวุธ
3.กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
4.กลุ่มร้านปืน
โดยสามารถตรวจยึดของกลางเป็นอาวุธปืนในขบวนการนี้ได้ทั้งหมด 100 กระบอกแบ่งเป็น ปืนที่ตรวจยึดได้ในพื้นที่จ.หนองคาย จํานวน 35 กระบอก ปืนที่ตรวจยึดได้ในพื้นที่ สภ.พลูตาหลวง และสภ.สัตหีบ จํานวนรวม 48 กระบอก และการตรวจยึดครั้งนี้(13 มิ.ย.2565) จํานวน 17 กระบอกรวมถึงตรวจยึดทรัพย์สินของขบวนการดังกล่าวได้มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป. ระบุว่า นายทุนของนายดนุพล เป็นทั้งขาวไทยและชาวต่างชาติ มีเจตนาซื้ออาวุธปืนในราคาถูก และขายในราคาแพงเพื่อเอากำไร ส่วนใหญ่เป็นปืนสวัสดิการรัฐ หากพบเจ้าหน้าที่รัฐก็จะดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมาย