CRIME

ป.ป.ส. ยึดสารเคมีผลิตยาอันตรายใช้แทนยาเสพติดของเครือข่ายข้ามชาติ

ป.ป.ส. ยึดสารเคมีผลิตยาอันตรายใช้แทนยาเสพติดของเครือข่ายข้ามชาติ นิยมนำมาเสพโดยผสมใส่ในบุหรี่ไฟฟ้า

วันนี้ (12 ธ.ค. 67) ที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. (ดินแดง) พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด และ พลเรือตรี หัตถกรนันท์ ศิรธนพรพัชร์ รองหัวหน้าฝ้ายข่าว ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกองทัพเรือ (ศอ.ปส.ทร.) ร่วมแถลงการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการอาหารเฝและยา (อย.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมข่าวทหารเรือ และคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Narcotics Control Commission : NNCCC) ได้ตรวจยึดสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตสารเอโทมีเดท (Etomidate) รวม 7 รายการ สารเคมีจำนวน 11 ถัง น้ำหนัก 2,200 ลิตร และสารเคมีจำนวน 10 ถุง น้ำหนัก 250 กิโลกรัม พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนหลายรายการผลิตสารเคมี อาทิ เครื่องทำความเย็น เครื่องทำความร้อน หลอดแก้วและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ฯลฯ เหตุเกิดที่ โกดังเก็บสารเคมี แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Narcotics Control Commission : NNCC) ประสานข้อมูลมายังสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. เกี่ยวกับคดีการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมสารเอโทมีเดท (Etomidate) ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าเครือข่ายชาวจีน 4 ราย ได้มีการสั่งซื้อสารเคมีหลายประเภทจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3.5 ตัน และลักลอบนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทย จึงประสานข้อมูลดังกล่าวมายัง สำนักงาน ป.ป.ส. ตนจึงมอบหมายให้นายปฤณ เมฆานันท์ ผอ.สำนักปราบปรามยาเสพติด สั่งการชุดปฏิบัติการสืบสวนพิสูจน์ทราบพื้นที่ต้องสงสัย และตรวจสอบรายชื่อสารเคมีที่ได้รับข้อมูลจากทางการจีน โดยสำนักปราบปรามยาเสพติด ร่วมกับกรมข่าวทหารเรือ สืบสวนพิสูจน์ทราบโกดังเก็บสารเคมี กระทั่งทราบว่าเป็นโกดังในพื้นที่บริษัท ย่านแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม.

ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค. สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมข่าวทหารเรือ และคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Narcotics Control Commission : NNCC) ได้ตรวจค้นโกดังเก็บสารเคมีในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ผลการตรวจค้นพบว่าโกดังดังกล่าวถูกเช่าโดยชาวจีน ชุดปฏิบัติการจึงได้ตรวจยึดสารเคมีต้องสงสัย 7 ชนิด ประกอบด้วย 1.สารเฟนิลเอทิลลามีน (Phenylethylamine) 2.สารไตรเอทิลเอมีน (Triethylamine) 3.เบนซีน (Benzene) 4.สารเอทิล คลอโรอะซีเตต (Ethyl chloroacetate) 5.กรดฟอร์มิก (Formic acid 85%) 6.สารเอทิลฟอร์เมต (Ethyl formate) และ 7.สารโพแทสเซียมไทโอไซยาเนต
(Potassium thiocyanate) จำนวน 11 ถัง น้ำหนัก 2,200 ลิตร ทั้งนี้ จำนวนน้ำหนัก 2,200 ลิตรนี้ สามารถใช้ผลิตสารเอโทมีเดทได้ถึง 200 กิโลกรัม และยังสามารถผสมกับบุหรี่ไฟฟ้าได้ถึง 600,000 ชิ้น

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เผยต่ออีกว่า จากการตรวจสอบพบว่าสารเคมีทั้ง 7 ชนิดดังกล่าว ถูกใช้ในกระบวนการผลิตสารเอโทมีเดท (Etomidate) ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของผู้ต้องหาชาวจีน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนได้ทำการสอบสวนเมื่อเดือน ต.ค.67 ยืนยันว่าสารเคมีและอุปกรณ์ดังกล่าวเตรียมนำมาผลิตสารเอโทมีเดท (Etomidate) ที่โรงงานในประเทศไทย ซึ่งสารดังกล่าวเป็นยาควบคุมพิเศษตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 การนำเข้า ครอบครอง ผลิต ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. เนื่องจากสารเคมีที่ยึดได้นั้น สามารถนำไปผลิตสารเอโทมีเดท (Etomidate) ได้ประมาณ 200 กิโลกรัม ราคาขายที่จีนประมาณ 30 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 140 ล้านบาท

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า สารเอโทมีเดท (Etomidate) ถือเป็นยากระตุ้นให้สลบ ชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้น ๆ แต่ออกฤทธิ์เร็ว ซึ่งต้องได้รับการควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันพบว่ามีการนำมาใช้ในทางที่ผิด นิยมนำมาเสพโดยผสมใส่ในบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันเริ่มแพร่ระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการเสพสารเอโทมีเดท อาจทำให้เกิดอาการมือสั่น ร่างกายสั่น ทรงตัวไม่ได้ และอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทแบบถาวร หรือหยุดหายใจ ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. มุ่งมั่นปฏิบัติงานในการสกัดกั้นและป้องกันการลักลอบลำเลียงสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายข้ามชาติที่ใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสารเคมีผลิตยาอันตรายที่สามารถใช้แทนยาเสพติดได้

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวต่ออีกด้วยว่า แม้สารเอโทมีเดท จะยังไม่ใช่สารเสพติดสำหรับกฎหมายไทย แต่มันก็มีการแพร่ระบาดอย่างมากในประเทศจีน และไต้หวัน อย่างไรก็ตาม หากสารเคมีดังกล่าวยังคงมีการแพร่ระบาดในลักษณะนำไปผสมกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างมากในประเทศไทยหลังจากนี้ ตนจะได้ประมวลเรื่องชงเข้าที่ประชุมของบอร์ด ป.ป.ส. เพื่อขอให้กำหนดให้สารเอโทมีเดท เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภทที่ 2

“สารเอโทมีเดท (Etomidate) เมื่อมีการนำไปผสมกับบุหรี่ไฟฟ้า หากเด็กและเยาวชนสูบเข้าไปจะมีอาการเคลิ้มเคลิ้ม ดังนั้น โอกาสที่จะไม่รู้ตัว หรือโอกาสที่จะถูกล่วงละเมิดก็จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งย้ำว่าในประเทศไทยยังไม่มีการแพร่ระบาดในลักษณะดังกล่าว แต่ยอมรับว่าเมื่อปี 2565 เราเคยเจอสารเอโทมีเดทในผับแห่งหนึ่งในพื้นที่ทองหล่อ แต่ว่าเป็นคนจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กับคนไทย แต่ว่า 4 คนนี้ เราตรวจพบสารเสพติดอย่างอื่นพร้อมกับบุหรี่ไฟฟ้า เราก็เลยเอาสารเสพติดกับบุหรี่ไฟฟ้าไปตรวจ จึงนับว่าปี 2565 ถือเป็นการพบสารเอโทมีเดทในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย“ เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุ

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เผยว่า สำหรับสารเคมีทั้ง 7 ชนิดนี้ หากมีการนำไปผสมอย่างไรก็ตามแต่ เราจะมีการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขอศาลออกหมายจับฐาน ผลิต จำหน่าย สารเอโทมีเดท เพราะมีทั้งอุปกรณ์ และคำรับสารภาพของผู้ต้องหาและพยาน จะได้นำพยานหลักฐานเหล่านี้ไปขอศาลออกหมายจับชาวจีนที่ยังคงหลบหนีอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ สถานที่ที่เราเข้าไปตรวจค้นนั้น อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกัน แม้สารเอโทมีเดทจะอยู่ในความดูแลของ อย. ก็ตาม แต่เราก็ต้องร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาด การนำไปผสมกับบุหรี่ไฟฟ้า

ด้านนายปฤณ เมฆานันท์ ผอ.สำนักปราบปรามยาเสพติด เผยว่า พบว่ามีการนำเข้าสารเคมีทั้ง 7 ชนิดนี้เข้ามาเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนก่อนหน้านี้ยังไม่เคยพบ ส่วนกลุ่มผู้ต้องหาชาวจีนทั้ง 4 รายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีล็อตนี้ยังคงหลบหนีในประเทศไทย และเราพยายามติดตามตัวอยู่ ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 4 รายนี้มีคดีเรื่องยาเสพติดติดตัวมาจากทางจีน และยังมีคดีของสารเอโทมีเดทอีกคดีด้วย ทั้งนี้ สำหรับโกดังเก็บสารเคมีทั้ง 7 ชนิดในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ที่เราได้เข้าไปตรวจค้นนั้น พบว่าเจ้าของโกดังไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย เพราะชาวจีนทั้ง 4 รายได้สั่งสารเคมีมาลงเก็บที่นี่และเช่าไว้เก็บของ แต่เจ้าของโกดังได้มีการแจ้งเบาะแสให้ความร่วมมือว่ามีสินค้าล็อตนี้เข้ามา จึงทำให้เราพิสูจน์ทราบและพบผู้ต้องหาทั้ง 4 รายนี้ว่าเกี่ยวข้อง ซึ่งการสั่งสารเคมีทั้ง 7 เข้ามา เป็นการนำเข้า-ส่งออกทางเรือ อย่างไรหลังจากนี้ เราจะพยายามเร่งติดตามตัวผู้ต้องหาชาวจีนทั้ง 4 ราย เพื่อส่งกลับให้ทางการจีนตามที่ได้รับการประสานไว้

Related Posts

Send this to a friend