‘รอง ผบช.น.’ แถลงความคืบหน้ากรณีจับกุม ‘โตโต้’ ชี้ แบ่งผู้ต้องหาเป็น 6 กลุ่ม พร้อมเตรียมกำลังดูแลหากมีการชุมนุม
วันนี้ (9 มี.ค. 64) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษก บช.น. เผยถึงความคืบหน้ากรณีการจับกุมนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ ‘โตโต้’ ที่ศูนย์การค้าเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน และการร้องเรียนว่ามีของกลางหายไปบางส่วน พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจบาล (ผบช.น.) ได้แบ่งกลุ่มการดำเนินคดีออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1. นายปิยรัฐ พร้อมพวก 18 คน ถูกดำเนินคดีในฐานสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อจะเตรียมการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เข้าข่ายกระทำผิดตามภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา อันประกอบด้วยตามมาตรา 107 – 366 ซึ่งการดำเนินการของนายปิยรัฐ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยตามมาตรา 215 วรรค 1 และ 2 ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนได้กระทำการสืบสวน จากนั้นพบการกระทำผิดและได้จับกุมตามความผิดซึ่งหน้า จึงไม่จำเป็นต้องมีหมายจับ นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามมาตรา 209 และ 210 รวมถึงความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
2. กลุ่มที่ถูกจับกุม และผู้ต้องหาที่หลบหนีไปจากเจ้าพนักงาน จะมีข้อหาเช่นเดียวกับกลุ่มแรก แต่จะมีความผิดเพิ่มตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ที่ว่าด้วยประเด็นการหลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งผู้ต้องหาในกลุ่มนี้ได้มาปรากฏตัวกับเจ้าหน้าที่ สน.พหลโยธิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการปล่อยตัวผู้ต้องหาไปก่อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ทราบว่า ทั้ง 27 คนนี้ เป็นผู้ที่หลบหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มนี้ มีหมายเรียกให้รับทราบ 4 ข้อกล่าวหาเดิมและเพิ่มอีก 1 ข้อกล่าวหาใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ต้องหาบางส่วนที่ไม่ได้มาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องออกหมายเรียกและดำเนินคดีเช่นเดียวกัน
3. ตามที่ปรากฏภาพผ่านสื่อมวลชนว่ามีประชาชน หรือกลุ่มบุคคลเข้าไปทำลายรถของราชการ และร่วมกันชิงตัวผู้ต้องหา ทำร้ายเจ้าพนักงานและชิงทรัพย์สินของกลางบางส่วน ซึ่งส่วนนี้จะมีความผิดตามมาตรา 191 ประกอบกับกฎหมายอาญา มาตรา 83 ร่วมกันช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกควบคุมให้หลุดพ้นไปจากการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งส่วนที่ 3 นี้ จะต้องมีการดำเนินการคดีตาม มาตรา 191 ด้วย ประกอบกับมีหลักฐานว่ามีความผิดในฐานต่อสู้กับเจ้าพนักงานร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และใช้อาวุธด้วย นอกจากนี้ ยังมีความผิดอื่น ๆ เช่น ฐานทำให้เสียทรัพย์สินทางราชการ
4. มีกลุ่มบุคคลได้ทุบทำลายแนวรั้วของศาลอาญา และนำสิ่งต่าง ๆ มาเผา รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ และบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการในเวลากลางคืน มีความผิดบางส่วนที่จะเกี่ยวข้องในฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งพนักงานสอบสวนกำลังตรวจสอบว่ามีอะไรที่เข้าข่ายมาตรา 112 หากพบเจอจะต้องดำเนินคดีในมาตราตรงส่วนนี้
5. สำหรับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ดังที่เคยได้เรียนแจ้งก่อนหน้านี้แล้วว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สั่งห้ามการชุมนุม เพราะฉะนั้น การชักชวน การเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือสนับสนุนให้มีการชุมนุม ตลอดจนเป็นผู้ชุมนุม ในส่วนนี้ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อและพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งสิ้น
6. เวลาประมาณ 23.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 31 พบว่า มีคนได้ใช้ลูกเหล็ก หนังสติ๊กและอาวุธ ยิงใส่รถเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้รถราชการเสียหาย ประกอบด้วย รถกระบะ 1 คัน รถหกล้อ 2 คันและรถบัสตำรวจ 1 คัน จากการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐานเชื่อได้ว่า เกิดขึ้นจากร่องรอยของการถูกยิงด้วยอาวุธปืน จากนี้ พนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาว่า การกระทำของผู้ชุมนุมนั้น เป็นการพยายามทำร้ายเจ้าพนักงานด้วยหรือไม่
สำหรับกรณีที่นายปิยรัฐอ้างว่ามีทรัพย์สินส่วนตัวหายไป โฆษก บช.น. กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุมีกลุ่มคนมาทุบทำลายรถ และแย่งชิงผู้ต้องหา รวมทั้งชิงหรือปล้นทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้รับรายงานจากผู้บาดเจ็บเมื่อวานนี้ว่า ผู้บาดเจ็บมีความเป็นห่วงทรัพย์สิน และของกลางบางส่วนที่ซ่อนเอาไว้ใต้เบาะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบของกลางที่นายปิยรัฐกล่าวอ้างไว้เป็นที่เรียบร้อย
ในส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยังไม่ได้ทรัพย์สินคืน ประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือ สร้อยคอ และพระเลี่ยมทองนั้น พนักงานสอบสวนได้เข้าไปพบกับผู้เสียหายแล้ว หลังจากเจ้าของทรัพย์สินออกจากโรงพยาบาลตำรวจ จะมีการแจ้งความร้องทุกข์ตามระเบียบอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ สำหรับช่วงเย็นของวันนี้ ได้มีกลุ่มมวลชนนัดหมายทำกิจกรรมที่ศาลอาญา และเรือนจำพิเศษธนบุรีในเวลา 16.00 น. พล.ต.ต. ปิยะระบุด้วยว่า ได้มีการสั่งการให้ตำรวจในพื้นที่ จัดกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชน และดูแลความสงบเรียบร้อย ประกอบด้วย ศาลอาญา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำพิเศษธนบุรี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอื่น ๆ ซึ่งคิดว่าเพียงพอกับการดูแลความสงบเรียบร้อย