CRIME

ฎีกาจำคุก 2 ปี 14 เดือน ‘เปรมชัย’ อธิบดีอัยการ ยืนยันไม่มีการหย่อนโทษแต่เป็นปัญหากฎหมาย

‘เปรมชัย’ ไม่รอด ศาลจังหวัดทองผาภูมิ พิพากษาจำคุก 2 ปี 14 เดือน พร้อมพวก 4 ข้อกล่าวหา ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ชดเชยค่าเสียหาย 2 ล้านบาท “ยกเลิกข้อหามีซากสัตว์ป่าไว้ในคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.สงวนฯ ถูกแก้ไข” ด้านอธิบดีอัยการ ยืนยันไม่ได้มีการหย่อนโทษ แต่เป็นปัญหาในด้านกฎหมายที่ถูกแก้ไขในเวลาดังกล่าว

วันนี้ (8 ธ.ค. 64) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลคำพิพากษาศาลจังหวัดทองผาภูมิคดีนายเปรมชัย กรรณสูต พร้อมพวกร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ท้องที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 61 ที่ผ่านมา อัยการจังหวัดทองผาภูมิได้ยื่นฟ้อง นายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ 1, นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 , นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 , และนายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 ในข้อกล่าวหา

  1. ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
  2. ข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  3. ข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ
  4. ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย

พร้อมมีคำสั่งจำคุกจำเลยทั้งหมด ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต จำคุก 16 เดือน, นายยงค์ โดดเครือ จำคุก 13 เดือน, นางนที เรียมแสน จำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท รอการลงโทษ 2 ปี และนายธานี ทุมมาศ จำคุก 2 ปี 17 เดือน โดยยกฟ้องจำเลยบางข้อหา โดยเฉพาะนายเปรมชัย กรรณสูต ศาลยกฟ้องในข้อหาร่วมกันเก็บของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แต่ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนในข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แทน ต่อมาวันที่ 24 พ.ค. 62 อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ทุกข้อหา

ต่อมาวันที่ 12 ธ.ค. 62 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคน ตามที่พนักงานอัยการศาลสูงภาค 7 ยื่นอุทธรณ์ โดยจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูต 2 ปี 14 เดือน นายยงค์ โดดเครือจำคุก 2 ปี 17 เดือน นางนที เรียมแสน จำคุก 1 ปี 8 เดือน รอการลงโทษให้ตามศาลชั้นต้น และนายธานี ทุมมาศจำคุก 2 ปี 21 เดือน

ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหมดตามที่พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 จึงมีคำสั่งไม่ฎีกา ครั้นวันที่ 31 มี.ค. 63 จำเลย 3 คน ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต, นายยงค์ โดดเครือ และนายธานี ทุมมาศ ได้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาและอธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ได้แก้ฎีกาเรียบร้อยแล้ว

คดีนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว ได้มีคำพิพากษา วันนี้ (8 ธ.ค. 64) ดังนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นและไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 55 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดในส่วนนี้ ตาม ป.อาญา มาตรา 2 คงจำคุก จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 14 เดือน , จำเลยที่ 2 คงจำคุก 2 ปี 17 เดือน , จำเลยที่ 3 จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 40,000 บาท รอลงอาญา จำเลยที่ 4 คงจำคุก 2 ปี 21 เดือน และให้จำเลยทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นตัน และศาลอุทธรณ์ แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ย ให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องคดีที่ได้มีการปรับข้อกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าไว้ในคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ทำให้จำเลยทั้ง 3 ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งได้รับลดโทษจำนวน 8 เดือน โดย “ยืนยันว่า ในการแก้ไขทางด้านกฎหมายเช่นนี้ เป็นปัญหาในด้านข้อบังคับทางกฎหมายไม่ได้เกี่ยวกับการหย่อนโทษของทางอัยการ” ซึ่งทางอัยการได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นซากสัตว์ป่าต่าง ๆ อุปกรณ์เครื่องใช้ ส่งต่อศาลทองผาภูมิอย่างละเอียดครบถ้วน

นอกจากนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ ยังได้เปิดเผยถึงกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาหลบหนีคดีออกต่างประเทศแก่สื่อมวลชนว่า คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัว ในข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อายุความ 15 ปี จะหมดอายุความในวันที่ 3 ก.ย. 70 และเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 หมดอายุความในวันที่ 3 ก.ย. 65

ซึ่งการส่งดำเนินคดีต่อศาลนั้น สามารถทำได้เมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวส่งต่อศาล หรือถูกคุมขังแล้วก่อนหน้า โดยในคดีนี้นายวรยุทธ ได้หลบหนีไปต่างประเทศ โดยยังไม่ทราบพิกัดที่ชัดเจนในขณะนี้ หากรู้พิกัดประเทศที่อยู่อาศัยทางคณะกรรมการที่ได้แต่งตั้งขึ้น ก็พร้อมจะดำเนินการในทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องเข้ามาหาทางอัยการ เพียงแต่ยังไม่ทราบตำแหน่งพิกัดที่แน่ชัด

Related Posts

Send this to a friend