ติดตามควาบคืบหน้า 7 ตำรวจจราจรกลางซ้อมลูกอดีตตำรวจเจ็บสาหัส
เตรียมทำเรื่องขอสำนวนจาก ป.ป.ช. มาดำเนินคดี เผย ต้องแล้วเสร็จภายใน เม.ย.นี้ ย้ำ อาจเข้าข้าย พ.ร.บ.อุ้มหาย เหตุ มีการถูกทำร้ายอย่างรุนแรง
วันนี้ (7 มี.ค. 68) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ และ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณี 7 ตำรวจจราจร สังกัดกองกำกับ 1 บก.จร. ทำร้ายร่างกาย นายธนานพ เกิดศรี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้ายที่ขับรถแหกด่านตรวจ เมื่อกันยายน 2567 บริเวณใกล้ด่านตรวจบริเวณซอยประเสริฐมนูกิจ 21 แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กทม.
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคดีพิเศษ หลังจากดีเอสไอสืบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นการสอบสวนตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยมี 2 ส่วน ที่ต้องรับผิดชอบในการสอบสวน คือ บช.น. และดีเอสไอ โดยมีอัยการสูงสุดชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้สอบสวน
นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า ดีเอสไอสอบปากคำผู้เสียหายไว้แล้วทั้งหมด 5 ปาก คือ ผู้เสียหาย พ่อ พี่สาว น้องสาว และแฟน เป็นการสอบสวนเบื้องต้น และมีมติให้กำหนดการสอบพยานใหม่ว่าจะมีการสอบใครบ้าง รวมถึงบุคคลที่ให้กล้องวงจรปิด คือสำนักงานเขตจตุกจักรที่รับผิดชอบ นอกจากผู้เสียหายแล้วยังมีการสอบสวนตำรวจที่อยู่ในด่านว่าใครทำอะไรบ้าง และจะสอบสวนเพื่อให้เห็นพฤติการณ์กระทำความผิดว่ามีใครเกี่ยวข้องนอกจากผู้ต้องหาซึ่งเป็นตำรวจทั้ง 7 นาย ต้องดูว่ามีผู้บังคับบัญชาคนไหนเกี่ยวข้องหรือไม่ด้วย รวมถึงต้องดูถึงการแจ้งการจับกุมด้วย เพราะตำรวจอาจไม่ได้แจ้งการจับกุมทุกเรื่อง
“ไม่ว่าหน่วยงานใด ถ้ามีการจับกุมและควบคุมตัวจะต้องแจ้งมาที่อัยการ และกรมการปกครองทุกกรณี ซึ่งจะต้องแจ้งทั้ง 2 หน่วย เพราะถ้าไม่แจ้งจะถือว่าเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาถ้าตำรวจจับกุมแล้วไม่ได้แจ้งอัยการกับฝ่ายปกครองทราบ ก็จะต้องพิจารณาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่” นายวัชรินทร์ กล่าว
นายวัชรินทร์ มองว่า ผู้เสียหายไม่ได้ทำผิดอะไร ขับรถเข้าด่านตามปกติ และไม่ได้เมา รวมถึงตำรวจชุดจับกุม 7 นาย ตามไปทำร้ายร่างกาย ซึ่งไม่ว่าจะผิดคันหรือถูกคันก็ไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายใคร เพราะถ้ามีการซ้อมทรมานจะต้องถูกดำเนินคดี และเมื่อดูกล้องวงจรปิด จะเข้า ม.5 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพราะมีการถูกทำร้ายอย่างรุนแรง
ส่วนสำนวนที่พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ทำส่งไปยัง ป.ป.ช. ดีเอสไอก็ต้องทำหนังสือไปถึง ป.ป.ช. เพื่อขอสำนวนกลับคืนมา เพราะเป็นอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ ทั้งนี้ ดีเอสไอเดินหน้าทางคดีไปค่อนข้างมากแล้ว และมีการสอบพยานไปแล้ว แต่เมื่อเป็นคดีพิเศษหลังจากนี้จะทำการสอบสวนใหม่อีกครั้ง โดยมีอัยการจากสำนักงานอัยการสอบสวนมากำกับการสอบสวน
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า วันนี้มีมติจะออกหมายเรียกพยานมาสอบปากคำ และตั้งไทม์ไลน์ไว้ว่าจะทำสำนวนให้เสร็จภายในเดือน เม.ย. ส่วนตำรวจ 7 นาย จะยังไม่เรียกมาสอบ เพราะอยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินคดี แต่จะเรียกพยานฝั่งผู้เสียหาย 5 ราย ตำรวจหัวหน้าด่าน บุคคลที่อยู่ในด่าน ขอเอกสารทางการแพทย์ สอบปากคำแพทย์ และพยานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ส่วน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ยังตอบไม่ได้ว่าไม่มีการรายงานเพราะอะไร ต้องการปกปิดหรือไม่ ซึ่งหลักเกณฑ์ในมาตรา 42 หากตรวจสอบแล้วเข้าข่ายก็สามารถดำเนินคดีได้
นายวัชรินทร์ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้เงียบหายไป ตำรวจ 7 นาย เท่าที่ทราบคือให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นโทษทางวินัย ส่วนการดำเนินคดีอาญายังคงอยู่ และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีอัตราโทษสูงถึง 15ปี
นายอังศุเกติ์ กล่าวว่า การเยียวยาผู้เสียกายได้การการเสนอไปแล้ว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังก่อน เพราะกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาไปแล้ว ส่วนตัวเลขจะต้องเยียวยาเท่าไร รอให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนเพราะต้องเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ ส่วนการข่มขู่คุกคาม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการข่มขู่คุกคามผู้เสียหายเกิดขึ้น