DSI แถลงผลยึดทรัพย์เครือข่ายโกฟุก พร้อมเร่งรวมหลักฐานเอี่ยวสำแดงภาษีน้ำมันอันเป็นเท็จ
DSI แถลงผลยึดทรัพย์เครือข่ายโกฟุก พบกระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรูเพียบกว่า 400 รายการ เร่งรวมหลักฐานเอี่ยวสำแดงภาษีน้ำมันอันเป็นเท็จ เสียหายกว่าหมื่นล้าน
วันนี้ (5 ก.พ. 67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงข่าวปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมเครือข่ายโกฟุก คดีพิเศษที่ 10/2567 ขอศาลอนุมัติออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 18 ราย สามารถจับกุมได้แล้ว 7 คน เหลืออีก 11 คนอยู่ระหว่างการหลบหนี
กรณีนี้สืบเนื่องจาก DSI มีเบาะแสการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของกลุ่มบุคคลภายใต้เครือข่ายโกฟุกนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์หลอกลวงให้ประชาชนเข้าซื้อรางวัลเลขท้ายของรางวัลที่ 1 และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว ภายใต้เว็บไซต์หลายเว็บไซต์ เช่น ร่ำรวยร้อยล้าน นพเก้า นาคราช ชอบหวย ล๊อตโต้เอ็มเอ็ม ดีเอ็นเอ เยเย่ และอื่น ๆ โดยอ้างอิงผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ปรากฏข้อความในหน้าเพจหรือเว็บไซต์ว่า หวยรัฐบาลไทยที่ประกาศหรือโฆษณาการซื้อหวย ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อความของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อันถือเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมทั้งนำผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มาประกอบในการเชิญชวนให้มีการเล่นการพนัน เบื้องต้นพบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 3,000 ล้านบาทและทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 พร้อมขยายผลไปถึงการหลบเลี่ยงภาษีน้ำมัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้สามารถยึดทรัพย์สินจากเครือข่ายดังกล่าว กว่า 14 ประเภท มูลค่าหลายร้อยล้านบาท อาทิ เงินสด 55 ล้านบาท ทองคำน้ำหนัก 350 บาท โฉนดที่ดิน-หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด 8 ฉบับ รถยนต์ 8 คัน พระเครื่อง 97 รายการ นาฬิกาหรู 47 เรือน อาวุธปืน 10 กระบอก กระเป๋า รองเท้า และเสื้อผ้าแบรนด์เนม รวมกว่า 400 รายการ
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่าเครือข่ายโกฟุกเกี่ยวข้องกับขบวนการสร้างหลักฐานการส่งออกน้ำมันไปนอกประเทศอันเป็นเท็จเพื่อนำมาขอคืนภาษี สร้างความเสียหายแก่รัฐมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมีพฤติการณ์นำน้ำมันออกจากจังหวัดระนองไปยังผู้ซื้อน้ำมันที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำทีว่าส่งน้ำมันไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับนำน้ำมันลงเรือไปอยู่ในน่านน้ำ ใช้หลักฐานปลอมเพื่อขอคืนภาษีอันเป็นเท็จจากภาครัฐ น่าเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง และเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงิน จากการสอบสวนพบว่าดำเนินการต่อเนื่องมานาน 10 ปี ซึ่ง อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนขยายผล และพบว่ามีการกระทำที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร จึงต้องประสานไปยังอัยการสูงสุดเพื่อมาร่วมสืบสวนสอบสวนด้วย