ดีเอสไอ เผย ไชน่าเรลเวย์ฯ รับงานรัฐกว่า 29 โครงการ มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้าน
‘พ.ต.อ.ทวี-ยุทธนา‘ เผย ความเชื่อมโยง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 กรณีตึก สตง. ถล่ม ตรวจสอบพบรับงานกว่า 29 โครงการรัฐ มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท พบใช้ 3 คนไทย เป็นนอมินีอำพรางถือหุ้น
วันนี้ (4 เม.ย. 68) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคดีพิเศษกรณีอาคาร สตง. ถล่ม หลังเหตุแผ่นดินไหว
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า ในเรื่องของการสอบสวนเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนของดีเอสไอในฐานะที่ดูแลอำนวยเรื่องความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว จึงได้มารับฟังในเรื่องของข้อมูล และเรื่องนี้ได้มีการให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 36 คน ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเบื้องต้นที่ได้รับทราบว่าในคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนทุกคนต้องการความยุติธรรม ซึ่งการจะให้ความยุติธรรมได้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งสงสัยว่าเพราะเหตุใดทำไมถึงเป็นอาคารเดียวที่มีการถล่ม
อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลที่มีชีวิตอยู่ต้องมีการสอบสวน แต่ก็ต้องการพยานเอกสารพยานวัตถุที่จะพิสูจน์ในเรื่องนี้ว่าอะไรเป็นสาเหตุในการทำให้ตึกถล่ม และทำให้มีคนเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ตั้งผู้เชี่ยวชาญพร้อมแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ดูในเรื่องนี้ว่าเป็นความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่
นอกจากนี้ อยากให้มีการปฏิบัติตามพร้อมใช้กฎหมายทุกกฎหมายอย่างเคร่งครัด และทำเรื่องนี้ให้ด่วน ส่วนผลของการรวบรวมหลักฐานจะเป็นความผิดอย่างอื่นหรือไม่นั้น ต้องมีการส่งให้องค์กรที่รับผิดชอบบางหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการประสานงาน รวมถึงอาจมีการประสานงานกับ ป.ป.ช. ได้ ถ้าเป็นการทุจริตในเรื่องของเนื้องานอาจจะต้องให้ ป.ป.ช. รับเรื่องนี้ต่อไป
“ในส่วนเรื่องของกรมสอบสวนก็ขอให้เร่งรัด อย่างน้อยที่สุดก็อยากให้สอบสวนโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ สามารถอำนวยความยุติธรรมแบบไม่อคิต ผมย้ำเสมอว่าดีเอสไอต้องกล้าหารบนพื้นฐานของพยานหลักฐาน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า หลังดีเอสไอรับกรณีเหตุตึก สตง.ถล่มหลังแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษในความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อรัฐ ส่วนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเราก็จะดูควบคู่ไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นว่ามีการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นได้เข้าตรวจสอบที่บ้านของ นายประจวบ (สงวนนามสกุล) ที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่ถือ 102,000 หุ้น ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด คิดเป็น 10.2% เมื่อเข้าตรวจสอบที่บ้านไม่เจอตัว แต่ได้สอบสวนภรรยาว่า นายประจวบออกจากบ้านไป 2-3 วัน ก่อนที่ตำรวจจะมา และทราบว่านายประจวบมีรายได้น้อยมาก ประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน จากการทำงานรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เชื่อว่าข้อมูลนายประจวบไม่สอดคล้อง และยังพบว่ายังไปถือหุ้น นิติบุคคลอีก 10 บริษัท มีแนวโน้มว่าเป็นนอมีนี หรือการถือหุ้นอำพราง ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นขณะนี้กำลังติดตามสอบสวนอยู่
น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เดิมที่ก่อตั้งมีผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คน เป็นนิติบุคคลก่อน และในช่วงแรก นายมนัส (สงวนนามสกุล) ถือหุ้น 306,000 หุ้น ในวันแรก จากนั้นได้โอนให้ นายโสภณ (สงวนนามสกุล) จนเหลือแค่ 3 หุ้นเท่านั้น ส่วนนายโสภณ (สงวนนามสกุล) มี 406,997 หุ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจากการตรวจสอบบุคคลทั้ง 3 คน ยังไม่เคยประกอบอาชีพในการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่กลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่แบบนี้ และรับงานภาครัฐได้อย่างไร ซึ่งตรวจสอบพบทั้งหมด 29 โครงการ ทั้วประเทศ เป็นเงิน 22,000 ล้านบาท อีกทั้งนายโสภณ (สงวนนามสกุล) ยังเป็นผู้บริการกับคนจีนอีก 1 คน ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบเช่นกัน
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 อ้างตัวว่าเป็นคนไทย แต่ไม่มีประสบการณ์ และมาร่วมกับบริษัทไทยร่วมประมูล ซึ่งต้องดูว่าคนไทยรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ และเอกสารเป็นเท็จหรือไม่ รวมถึงมุ่งดูประเด็นการทำกิจการร่วมค้าของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ที่ร่วมค้ากับนิติบุคคลของไทย อีก 11 บริษัท โดยเฉพาะตึก สตง. ที่บริษัท อิตาเลียนไทย ร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ว่าเป็นกิจการร่วมค้าในการประมูลอาคารดังกล่าว ดีเอสไอจึงขอเวลา 2 เดือน ในการตรวจสอบว่าเอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และ 29 โครงการที่ร่วมกับบริษัทไทยที่รับงานโครงการจากรัฐบาลไปทำว่าทำไมถึงต้องอำพราง ทั้งที่เป็นคนไทย แต่ทำไมไม่ประมูลเอง ทำไมถึงต้องร่วมกับบริษัทอื่นในไทยในการทำให้รัฐเชื่อมั่น และร่วมลงทุน
ทั้งนี้ ในส่วนที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ร่วมกับ บริษัท อิตาเลี่ยน ไทย ที่ประมูลตึก สตง. ในราคา 2,136 ล้านบาท จากราคากลาง 2,500 ล้านบาท มองว่าเป็นการฟันราคาตัวเองหรือไม่ ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เหตุผลอะไร ทำให้รัฐหลงเชื่อ และใช้บริการ