CRIME

ศาลฎีกายกฟ้องคดี ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’

ศาลฎีกายกฟ้องคดี ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ชี้ ไม่เข้าข่ายอั้งยี่ ไม่ผูกขาดการท่องเที่ยว – ไม่ผิดฐานฟอกเงิน

วันนี้ (3 มี.ค. 65) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ หมายเลขดำ ฟย.46/2559 หมายเลขแดง ฟย.25/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายสมเกียรติ คงเจริญ อายุ 63 ปี กก.ผจก.บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด , นางธวัล แจ่มโชคชัย อายุ 65 ปี กก.ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล , บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด , นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 32ปี กก.ผจก บจก.โอเอฯ , บริษัท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท ไทยเฮิร์บ จำกัด , บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด , บริษัท รอยัลพาราไดซ์ จำกัด , นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี อายุ 67ปี กรรมการผู้จัดการทั้งสี่บริษัท ซึ่งเป็นมารดาของนายวสุรัตน์ , นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี อายุ 66 ปี สามีนางนิสา , บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด , น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 41 ปี กรรมการผู้มีอำนาจ บจก.บ้านขนมทองทิพย์ซึ่งเป็นบุตรของนายธงชัย และนายวินิจ จันทรมณี อายุ 75 ปี กก.ผจก บริษัทซินหยวน ทราเวลจำกัด เเละบริษัทฝูอันฯ เป็นจำเลยที่ 1-13 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก , พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต , ร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

กรณีนี้ สืบเนื่องจากระหว่างวันที่ 24 มี.ค – 31 ส.ค. 2559 ต่อเนื่องกัน บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวโดยไม่เสียค่าบริการ หรือที่เรียกว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” จากนั้นบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด จำเลยให้ใช้รถบัสจำนวน 2,500 คัน รับนักท่องเที่ยวฟรี โดยเป็นผู้กำหนดแผนการเดินทางให้มัคคุเทศก์และผู้ขับขี่นำรถไปจอดให้นักท่องเที่ยวแวะซื้อสินค้าจากร้านในเครือเดียวกับบริษัท โอเอฯ ซึ่งสินค้ามีราคาแพงกว่าท้องตลาดหลายเท่า แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เป็นการขูดรีดนักท่องเที่ยว ไม่เป็นการแข่งขันเสรีทางการค้า อำพรางแบ่งปันผลประโยชน์ โดยบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด แบ่งปันผลประโยชน์ให้บริษัททัวร์ 30-40% ให้มัคคุเทศก์ 3-5 % มีพฤติกรรมลักษณะเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ ปกปิดวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของนักท่องเที่ยวศูนย์เหรียญชาวจีน จนเกิดความ เสียหายมูลค่า 98 ล้านบาทเศษทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษปรับเฉพาะจำเลยที่ 1 , 2 เเละ 13 รายละ 5 แสนบาท ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเเละมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 24 , 82 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 , 2 และ 13 ยื่นฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นว่า ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของพวก มีลักษณะร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยเป็นการตกลงกันเข้าลักษณะเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมีความมุ่งหมายเพื่อหารายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้าแล้วนำรายได้มาแบ่งปันผลประโยชน์กัน การกระทำร่วมกันของจำเลยทั้ง 13 จึงเป็นการร่วมกันปกปิดวิธีดำเนินการแก่นักท่องเที่ยว เป็นการกำหนดเส้นทางและสถานที่ ที่จะนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวและให้ไปซื้อสินค้าในร้านของจำเลยที่ 3 , 5-8 และที่ 11 เท่านั้น มิให้นักท่องเที่ยวรู้ถึงสถานที่อื่น ร้านค้าอื่น ราคาสินค้าและคุณภาพของ สินค้าอื่น หากนักท่องเที่ยวไม่ยินยอมซื้อสินค้าหรือซื้อไม่ได้ตามยอดที่กำหนดหรือซื้อจากร้านอื่น ก็จะบังคับนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการต่าง ๆ

จึงเป็นการดำเนินธุรกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมุ่งหมายให้ได้ผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว เป็นการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ขัดต่อศีลธรรม อันดี และขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย ทั้งยังเป็นการ ผูกขาดระบบเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ร้านค้ารายย่อยไม่มีโอกาสขายสินค้า ชนิดเดียวกันกับร้านค้าของจำเลยที่ 5-8และที่11ให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีเงินทุนน้อยกว่าไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องเลิกกิจการ ทำให้ระบบ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเสียหาย นักท่องเที่ยวต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าและด้อยคุณภาพ นักท่องเที่ยวจะรู้สึกไม่พอใจกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือ นักท่องเที่ยวนั้น

ศาลเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาดังกล่าว ล้วนเป็นการคาดคะเนเอาเองของโจทก์ โดยใช้เพียงข้อมูลที่เกิดจากการรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ที่ได้มาของเจ้าพนักงาน ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งไม่ใช่พยานโดยตรง โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีเหตุผลสนับสนุน ตรงกันข้ามทางพิจารณา กลับได้ความว่าจำเลยที่ 1,3 เเละที่ 13 ต่างประกอบธุรกิจนำเที่ยว ส่วนจำเลยที่ 3-12 ประกอบกิจการการขนส่งคนโดยสารเพื่อให้เช่ารถโดยสาร จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และของที่ระลึก รวมทั้งธุรกิจร้านอาหาร

จำเลย 1, 3 ที่ 13 เคยเช่ารถโดยสารจากผู้ประกอบกิจการการขนส่งรายอื่นด้วย แม้ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นเช่ารถโดยสารจากจำเลยที่ 3 แล้วพานักท่องเที่ยวไปที่ร้านค้าในเครือของจําเลยที่ 3 นอกจากเป็นไปตามโปรแกรมที่กำหนดแล้วยังเป็นการประกอบธุรกิจในลักษณะ เป็นพันธมิตรและเป็นธุรกิจต่างตอบแทนกัน ดังเช่นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวรายอื่นที่เช่ารถโดยสารจากผู้ประกอบกิจการการขนส่งคนโดยสารรายใด ก็จะกำหนดโปรแกรมที่ต้องพา นักท่องเที่ยวไปร้านค้าในเครือของผู้ประกอบกิจการขนส่งรายนั้น

ส่วนโปรแกรมที่นักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องไป คือ ร้านจิวเวลรี่ ร้านกระเป๋าหนังจระเข้ ร้านรังนก และร้านยาง ก็เนื่องจากได้รับการบอกกล่าวต่อ ๆ กัน และเป็นสินค้าประเภทที่นักท่องเที่ยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีนส่วนใหญ่นิยมซื้อ ร้านที่จำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวมีจำนวนมาก มีหลายกลุ่มที่ผู้ประกอบการอันเป็นเครือเดียวกันประกอบธุรกิจทั้งกิจการขนส่ง ร้านค้า จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และของที่ระลึก รวมทั้งร้านอาหาร หาใช่ผูกขาดมีเฉพาะจำเลยที่ 3 และร้านค้าในเครือจำเลยที่ 3 เท่านั้นไม่ จึงมีการแข่งขันกันสูงแต่ก็เป็นการแข่งขันอย่างเสรี และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าการเลือกและตัดสินใจซื้อสินค้าที่ร้านค้าในเครือของจำเลยที่ มีการบังคับข่มขู่หรือชักจูงใจ ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพและราคาสูงกว่าปกติมากในลักษณะที่เอาเปรียบเกินควร สินค้าแต่ละประเภทมีป้ายติดแสดงราคาไว้ กับมีใบรับประกันและ สามารถนำมาคืนได้ในภายหลัง

สำหรับค่าน้ำหรือค่านำรถเข้าไปจอดหรือค่าคอมมิชชั่นของ จำเลยที่ 1, 2และที่ 13 หรือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในประเทศไทยรายอื่น กับค่าน้ำ หรือค่าคอมมิชชั่นของมัคคุเทศก์ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน และเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในร้านค้าจำนวนมาก นักท่องเที่ยวต่างก็มีความ พึงพอใจที่ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยและซื้อสินค้าที่ร้านในเครือของจำเลยที่ 3

ดังนั้น การกระทำ ของจำเลยที่ 1, 2 เเละ 13 จึงมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวหาประโยชน์ ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยว มิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดบริการนำเที่ยว ให้แก่นักท่องเที่ยวโดยไม่ได้รับค่าบริการหรือรับค่าบริการในอัตราที่เห็นได้ว่าไม่เพียงพอ กับค่าใช้จ่าย และมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือนักท่องเที่ยว

และเมื่อจำเลยที่ 1, 2 และ 13 มิได้เป็นผู้ร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวหาประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 3-12 จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวหาประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยว หรือร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือนักท่องเที่ยวกับจำเลยที่ 1, 2 เเละ13

ส่วนการกระทำความผิดฐานอั้งยี่นั้น ผู้ที่กระทำต้องเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1, 2 เเละ13 เป็นสมาชิกของ คณะบุคคลใด มีวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายใดที่ปกปิดเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายอย่างใด ทั้งจำเลยที่ 3-12 ไม่อาจร่วมกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ กับจำเลยที่ 1,2 เเละ13 การกระทำของจำเลยทั้ง 13 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่ด้วย

สำหรับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ กรณีนี้จึงไม่มีความผิดมูลฐานอันจะทำให้การกระทำ ของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1, 2 เเละ 13 ฟังขึ้น

ศาลพิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ 1,2 เเละ 13 ในความผิด ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 24,82 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Related Posts

Send this to a friend