DSI รับ 2 คดีลักลอบนำเข้าเนื้อเถื่อน เป็นคดีพิเศษ
พร้อมตรวจสอบดำเนินการกับกลุ่ม ”เจ้าหน้าที่รัฐ – นักการเมือง“ พัวพันขบวนการ คาดภายในสัปดาห์นี้ ส่งสำนวนต่อ ป.ป.ช. เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ คดีหมูเถื่อน 161 ตู้
วันนี้ (3 ม.ค. 67) เวลา 12:00 น. ที่ห้องประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีลักลอบนำเข้าเนื้อสุกร เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบหรือคดีหมูเถื่อน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมนัดแรก คดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ หรือคดีหมูเถื่อน เพื่อวางกรอบแนวทางการสอบสวนถึงกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนต่างๆ อาทิ กลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และนักธุรกิจชาวจีน
พ.ต.ต.ณฐพล ระบุว่า วันนี้ได้มีการประชุมรับเป็นคดีพิเศษใหม่เพิ่มเติมอีก 2 คดี ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์สัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฏหมาย และได้นำออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว และคดีพิเศษที่ 127/2566 กรณีขบวนการนำเข้านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โดยคดีพิเศษที่ 126/2566 เป็นการขยายผลมาจากคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ซึ่งพบว่าในกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชน 10 แห่งที่ได้ดำเนินคดีไปแล้วนั้น ได้มีการนำตู้คอนเทเนอร์ออกไปก่อนหน้านี้ จำนวน 2,388 ตู้ โดยมีการสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าประเภทเนื้อปลาแช่แข็ง พลาสติกพอลิเมอร์ และไข่ต้มสุก ซึ่งดีเอสไอจะไปพิสูจน์ว่าตู้คอนเทเนอร์เหล่านี้ที่ถูกนำออกไปแล้ว แท้จริงเป็นตู้สินค้าประเภทใด และได้มีการสำแดงก่อนออกจากท่าเรือเป็นสินค้าประเภทใด ซึ่งคดีพิเศษที่ 126/2566 นี้เป็นการขยายผลมาจากคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ในกลุ่มคดีนี้พบว่า มีกลุ่มที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น 9 บริษัท โดยเป็นกลุ่มเดิมที่ดีเอสไอเคยดำเนินการทางคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว และได้นำตู้คอนเทเนอร์ออกไปจัดจำหน่ายเรียบร้อย ซึ่งในคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา รวมถึงอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนการนำเข้า และส่งออก รวมแล้วอาจมากกว่า 10 ราย เพราะในคดีก่อนหน้านี้ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกว่า 13 ราย
ส่วนคดีพิเศษที่ 127/2566 จะดำเนินคดีกับขบวนการองค์กรอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่กลุ่มใหม่ เกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์บรรจุเนื้อสัตว์เถื่อนต่างๆ กว่า 10,000 ตู้ และเป็นกลุ่มที่ดีเอสไอไม่เคยดำเนินคดีมาก่อน ได้แก่ กลุ่มนายทุนชาวไทยชาวจีน บริษัทชิปปิ้งเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง โดยพบว่ามีการลักลอบนำเข้าตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง เนื้อวัวแช่แข็ง ชิ้นส่วนไก่ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป
พ.ต.ต.ณฐพล เชื่อว่า ผู้ต้องหาในกลุ่มดังกล่าว มีผู้เกี่ยวข้องจากหลายแวดวงจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แบ่งทีมเพื่อไปตรวจสอบว่ามีใครเกี่ยวข้องขบวนการดังกล่าวบ้าง พร้อมทั้งประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพราะพบว่าในกลุ่มนี้ได้มีการโอนเงินออกไปยังบริษัทจำหน่ายชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่เเข็งในต่างประเทศ และมั่นใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหลายรายแน่นอน เพราะจำนวนตู้คอนเทเนอร์นั้นมากกว่า 10,000 ตู้ ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว และชิ้นส่วนไก่
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่ดีเอสไอดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ อาจมาเกี่ยวข้องด้วย แต่จะต้องดูด้วยว่ากลุ่มที่กระทำผิดได้ใช้เจ้าหน้าที่รัฐรายใดบ้าง เพราะที่ผ่านมาดีเอสไอได้ประจักษ์พยานสำคัญในคดีเข้าให้ข้อมูลพอสมควร เจ้าหน้าที่จึงพบว่าจะมีหน้าที่รัฐรายใดบ้าง
สำหรับมูลคค่าความเสียหายในคดีนี้ เบื้องต้นพบว่า มีการลักลอบนำเข้าตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 6,000 – 7,000 ล้านบาท เพราะหากคำนวณจากจำนวนตู้คอนเทเนอร์กว่า 10,000 ตู้ ความเสียหาย 1 ตู้ ก็ตกประมาณ 1,000,000 บาทแล้ว ส่วนจำนวนตู้คอนเทเนอร์ จะเป็นสินค้าประเภทใดบ้าง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งแน่ชัดแล้วว่ามีการสำแดงเท็จจริง ส่วนหลังจากนี้ตลอดสัปดาห์ จะเชิญพยานเข้าให้ถ้อยคำ 4 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย และบริษัทชิปปิ้งเอกชน 2 ราย และจะให้ทาง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินอีกด้วย
ขณะที่อีก 2 สำนวน ในคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ที่เตรียมส่ง ป.ป.ช. นั้น ได้เสนอให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบแล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะนำส่งต่อ ป.ป.ช. ได้
ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นคดีใหม่อีก 2 คดี เราก็เน้นตรวจสอบการนำเข้า วิธีการนำเข้า โควต้าที่แต่ละบริษัทได้รับ และบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่เกี่ยวข้อง เราก็จะทยอยสอบปากคำ ส่วนการทำลายพยานหลักฐาน ยังไม่พบ เพราะทุกอย่างจะปรากฎด้วยพยานหลักฐาน เช่นใบบีแอล หรือ Bill of Lading (B/L) หรือที่เรียกกันว่าใบตราส่งสินค้า และหลักฐานการเคลื่อนย้ายต่างๆ และเนื่องด้วยเป็นตู้ที่ออกไปแล้ว เราจึงจะใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี คือ GPS TRACKING เพื่อตรวจสอบว่ารถขนสินค้าได้ออกจากท่าเรือต่างๆไปหยุดที่จุดไหน และแต่ละจุดนานเท่าใด และถ้าพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็จะดำเนินการไม่มีละเว้น พร้อมดำเนินคดีทั้งหมด
โดยในกลุ่ม 10,000 กว่าตู้นี้ พบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 หน่วย คือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ต้องไปตรวจสอบว่ามีใครบ้างระดับใด ส่วนนักการเมือง ก็จะต้องตรวจสอบเช่นเดียวกัน ว่าจะเชื่อมโยงถึงระดับอธิบดีกรม หรือรัฐมนตรีหรือไม่ ทุกอย่างต้องดูพยานหลักฐานประกอบคำให้การของพยาน และผู้ต้องหาทั้งหมดก่อน