เช้าวันนี้ (28 ก.ย.62) ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 200 นาย เปิดปฏิบัติการบุกตรวจค้นเป้าหมาย 6 จุด ในพื้นที่ย่านหัวลำโพง ภายหลังจากได้รับข้อมูลจากมูลนิธิแห่งหนึ่งว่า มีขบวนการค้ามนุษย์ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ที่เคยกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีกว่า 20 คน หลอกชักชวนและขู่บังคับเด็กชายและเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไปค้าบริการทางเพศตามโรงแรมต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟหัวลำโพง และให้ไปกระทำผิดกฎหมายต่างๆ เช่น จี้ชิงทรัพย์ และส่งยาเสพติด โดยตำรวจจับกุมผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด 13 คน ซึ่งมีตั้งแต่แกนนำกลุ่ม คนจัดหาเด็กไปค้าบริการ นายหน้า และคนที่ทำร้ายร่างกายเด็ก พร้อมยึดหลักฐานต่างๆได้หลายรายการ อาทิโทรศัพท์มือถือ บัญชีธนาคาร และเอกสารต่างๆ ไป ตรวจสอบขยายผล และส่งไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ซึ่งพบว่าผู้ต้องหาส่วนใหญ่ มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และชิงทรัพย์ และบางคนมีประวัติเกี่ยวกับการค้าประเวณีด้วย
พลตำรวจตรีวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บังคับการ ปคม. เปิดเผยว่า ได้สอบสวนผู้ต้องหาชุดแรกแล้ว ผู้ต้องหารับสารภาพว่าล่อลวงเด็กมาก่อเหตุจริง ซึ่งทำมาได้ 3-4 เดือนแล้ว เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กมีปัญหากับครอบครัว และหลบหนีมาอยู่ละแวกหัวลำโพง ซึ่งแรกๆ จะชักชวนให้มาอาศัยอยู่ด้วย มีการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี จากนั้นจะเริ่มออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับ และขู่เข็ญให้ทำตามคำสั่ง รวมถึงบังคับให้เสพยาเสพติด
ส่วนการตรวจสอบประวัติพบว่า นายนรินทร รอบรู้ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม มีประวัติต้องโทษจำคุก 2 ครั้ง ในคดีชิงทรัพย์และจำหน่ายยาเสพติด ส่วนนายทองเค ที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายเด็ก พบว่าต้องโทษจำคุกมาแล้ว 3 ครั้ง ในคดีเสพยาเสพติดและค้าประเวณี โดยขบวนการนี้รู้จักกันภายหลังจากพ้นโทษและกลายเป็นคนเร่ร่อน จนเกิดการชักชวนกันกระทำความผิด
พันตำรวจเอกมานะ กลีบสัตบุศย์ รองผู้บังคับการ ปคม. ระบุว่า จากการซักถามเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย พบว่าถูกใช้ของมีคมกรีดที่แขน ใช้เทียนหยดใส่ หรือน้ำร้อนราด ซึ่งเกิดจากการบังคับให้ไปค้าประเวณีแต่เด็กขัดขืนไม่ยินยอม ซึ่งบางรายจะถูกข่มขืนด้วย ส่วนเงินที่ได้จากการค้าประเวณีจะได้ครั้งละ 400-600 บาท และถูกหักเงินให้กลุ่มผู้ต้องหาประมาณครึ่งหนึ่ง
สำหรับการช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่อซึ่งเป็นเด็กทั้งหมด 14 คน จากการตรวจสอบพบว่า 8 คน เป็นเหยื่อที่ถูกล่อลวงชัดเจน ส่วนอีก 4 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบและคัดแยกว่าเป็นผู้เสียหายหรือผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะรับให้การช่วยเหลือ ประสานครอบครัวปรับความเข้าใจ แก้ปัญหาให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อต่อไป