CRIME

ตำรวจไซเบอร์ เตือน เก็บข้อมูลบัตรเครดิต-เดบิตเป็นความลับ หลังแก๊งดูดเงินป่วน

ตำรวจไซเบอร์ เตือน ประชาชนต้องเก็บข้อมูลบัตรเครดิต และเดบิตเป็นความลับ หลังแก๊งดูดเงินป่วน พบผู้เสียหาย 40,000 ราย สูญเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

จากกรณีที่มิจฉาชีพล้วงข้อมูลและหลอกถอนเงินจากบัญชีธนาคารบัตรเดบิต และบัตรเดบิตหลายครั้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ ล่าสุดวันนี้ (18 ต.ค.64) พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่าพบผู้เสียหายทั้งหมด 40,000 คน มูลค่าความเสียหายร่วม 10 ล้านบาท เบื้องต้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1-9 รับแจ้งความทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว

ทั้งนี้ยังย้ำเตือนประชาชนให้เก็บข้อมูลเลขหน้าบัตร 16 หลัก และเลขความปลอดภัยด้านหลังบัตร จำนวน 3 หลักเป็นความลับ

“ประชาชนต้องคิดก่อนคลิก เช็กก่อนโอน อย่าเปิดไฟล์และอีเมลที่ไม่รู้จัก อัปเดตซอฟต์แวร์ ติดตั้งระบบแอนตี้ไวรัส และสำรองข้อมูลอยู่เสมอ เพราะภัยไซเบอร์มักเกิดจากการขาดสติของคนใช้”

โดยขณะนี้ได้จับมือกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยเพื่อเร่งหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี และได้เชิญแอปพลิเคชันต่างประเทศที่ให้บริการในไทยมาร่วมหารือแล้ว

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ด้าน พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากการสอบสวนพบว่าคนร้ายมีข้อมูลหมายเลขหน้าบัตรและหลังบัตร รวมถึงวันหมดอายุของบัตร สันนิษฐานว่าได้มา 3 วิธี ได้แก่ 1.ผูกบัตรไว้กับแอปพลิเคชัน 2.หลอกลวงให้กรอกข้อมูลในรูปแบบฟิชชิ่งอีเมล หรือ SMS 3.ข้อมูลหลุดจากเครื่องรูดบัตร และมีการซื้อขายในตลาดมืด

จากการตรวจสอบพฤติกรรมการดูดเงินของคนร้าย จะดูดเงินจำนวนไม่กี่บาท แต่หลายยอด เพราะหากเป็นบัตรเดบิตจะไม่มีการส่ง sms แจ้งเตือนให้ผู้เสียหายรู้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องประสานกับร้านค้าที่รับชำระ ทั้งนี้อยู่ในระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้ประกอบการออนไลน์ถึงมาตรการป้องกัน เช่น การลงทะเบียนร้านค้าออนไลน์ การปรับมาตรการแจ้งเตือนชำระสินค้าและบริการที่ยอดไม่ถึงขั้นต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

โดยที่ผ่านมาคนร้ายจะเป็นรายย่อย แต่ครั้งนี้คนร้ายมีการทำโปรแกรมขึ้นมา อาจทำคนเดียวหรือทำเป็นขบวนการ ซึ่งหากคนร้ายอยู่ภายนอกประเทศ ก็อาจติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่จะเอาผิด เบื้องต้นพบว่ามีความผิดข้อหาใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา และหากสืบสวนพบคนร้ายได้ข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ จะมีความผิดตามมาตร 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถเข้าถึงตัวคนร้ายได้เมื่อไร พล.ต.ท.กรไชย ทิ้งท้ายว่า “อาชญากรทิ้งร่องรอยไว้เสมอ อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat