CRIME

ชี้ การเพิ่มโทษในคดีข่มขืน ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย อาจทำให้เหยื่อเสียชีวิตง่ายขึ้น แนะเพิ่มการเฝ้าระวังปิดช่องโอกาสในการก่อเหตุด้วย

พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงหนึ่งในข้อเสนอของกรรมาธิการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนฯ ที่เสนอให้เพิ่มโทษ ’ฉีดอวัยวะเพศชายให้เสื่อมสภาพ’ เพื่อยับยั้งการกระทำ ความผิดว่าส่วนตัวมองว่า อาจจะต้องดูผู้ที่กระทำความผิด ฐานข่มขืนกระทำชำเราซ้ำซาก ครั้งที่สองที่สามอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้ได้เพราะถือว่า ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนการลงโทษก็จะต้องดูระยะเวลาของการจองจำให้ยาวนานขึ้น ไม่ควรพิจารณาลดวันต้องโทษ เพราะถือว่าไม่หลาบจำสำหรับผู้ต้องหากลุ่มนี้ และต้องมีมารตการอื่นควบคู่กันไปด้วย เพราะอัตราโทษอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการหยุดยั้งอาชญากรรม

แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น ก็อาจจะทำให้เหยื่อเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น เพราะผู้ก่อเหตุจะต้องกลัวว่าเหยื่อจะดำเนินคดี จึงต้องฆ่าทิ้ง เพราะเชื่อว่าจะทำให้การติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษได้ยากขึ้น และเชื่อว่า หากนำโทษรูปแบบนี้มาใช้จริงๆ ในช่วงแรกอาจจะทำให้ผู้คิดกระทำผิดเกิดความเกรงกลัว แต่สถิติการกระทำความผิดในระยะยาว ไม่ได้ทำให้คดีข่มขืนลดลงไปมากกว่าเดิม

หากมองที่บทลงโทษที่สูงขึ้น ก็อาจจะทำให้คนที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะกระทำ ทั้งการฉีดยาที่ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งกลัว ฉีดยาเพื่อลดความต้องการทางเพศ แต่ก็ควรมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย ทั้งการติดตามตัวผู้ที่กระทำความผิดหลังพ้นโทษ ตามที่นักอาชญาวิทยาได้มีการเสนอควบคู่ไปแล้ว ซึ่งหากมีการติดตามตัว ก็อาจจะทำให้ผู้ที่กระทำความผิดเกรงกลัวว่าจะถูกจับกุมหากกระทำผิดเพราะรัฐติดตามตัวอยู่

อีกทั้งควรจะต้องให้ความสำคัญมาตรการในเชิงป้องกันหรือเฝ้าระวังควบคู่ไปด้วย โดยการป้องกันคือจะทำอย่างไรให้เราไม่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเกี่ยวกับเพศ ซึ่งตามสถิติ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ทุพพลภาพ มักจะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

จากสถิติของนักวิชาการพบว่า คนที่ตกเป็นเหยื่อ มักจะมาจากคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนสนิท ญาติ คนในครอบครัว พ่อเลี้ยงที่กระทำต่อบุตร ดังนั้นในเชิงป้องกัน จะต้องไม่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนใกล้ตัวมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อ เพราะจะอาศัยช่องโอกาส และผู้ก่อเหตุอาจใช้สารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ทำให้เกิดการขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดสติ รวมถึงอาจวางแผนลงมือก่อเหตุข่มขืน เช่นการแอบชอบ เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อมูลเหตุแรงจูงใจต่างกัน หากลดช่องโอกาสที่จะใช้ในการก่อเหตุได้ ก็จะทำให้การเกิดเหตุลดลง และผู้ก่อเหตุบางรายที่เคยก่อเหตุมาก่อน ก็อาจจะมีความคุ้นชินในการก่อเหตุซ้ำอีกครั้ง

ทั้งนี้ก็จะต้องดูตั้งแต่สาเหตุและพฤติกรรมของคน ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ตั้งแต่สภาพจิตใจ การอบรมเลี้ยงดูทางสังคม การศึกษา การเฝ้าระวังการติดตามการลงทุนจากรัฐ การเฝ้าระวังคนไม่ให้กระทำผิด ปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะป้องกันและหยุดยั้งการกระทำความผิดได้

“ทางนักสิทธิมนุษยชนก็ต้องไปดูบริบท สังคม วัฒนธรรมนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรด้วย และหากจะใช้โทษการฉีดอวัยวะก็จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพราะไม่ใช่ฉีดเข็มเดียวแล้วจะลดฮอร์โมนได้ตลอดชีวิต แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และประเมินไป 3-10 ปี รวมถึงดูการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้วใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพราะตกปีละหลักแสนต่อคน ซึ่งอาจจะต้องมีการตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา ที่นอกเหนือจากการใช้งบประมาณของกระทรวงยุติธรรมหรือไม่ ส่วนที่มีการเสนอให้ผ่าตัดทิ้งนั้น หากบุคคลนั้นเป็นแพะ การผ่าตัดไปแล้วใครจะรับผิดชอบชีวิตของเขา อย่างคดีเชอรี่แอนเป็นตัวอย่าง และผู้กระทำความผิดนั้นจะได้รับโทษที่ร้ายแรงเท่าเทียมกันทุกคนหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะมีรายละเอียดเนื้อหาทั้งหมด และมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร” พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ให้ข้อสังเกตุ

Related Posts

Send this to a friend