CHINA

จีนค้นพบ ‘เครื่องเคลือบดินเผา 1,000 ปี’ ในหนิงเซี่ย

จีนค้นพบ ‘เครื่องเคลือบดินเผา 1,000 ปี’ ในหนิงเซี่ย หลักฐานการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดของราชวงศ์ซ่งเหนือ-เซี่ยตะวันตก

เครื่องเคลือบดินเผาที่ขุดพบในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งผลิตขึ้นเมื่อเกือบ 1,000 ปีก่อน สมัยราชวงศ์ที่ปกครองโดยกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย มีความคล้ายคลึงกับเครื่องเคลือบดินเผาที่ผลิตขึ้นในจิ่งเต๋อเจิ้น เมืองทางตะวันออกของจีนที่ได้รับการขนานนามให้เป็น ‘เมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบดินเผา’

ซากเตาเผาซูอวี้โข่ว ถูกค้นพบเมื่อปี 2560 ในเมืองอิ๋นชวน เมืองเอกของหนิงเซี่ย ครอบคลุมพื้นที่ราว 40,000 ตารางเมตร นักโบราณคดีเชื่อว่าการค้นพบนี้เป็นหลักฐานแสดงถึงการผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยปี 2564-2567 นักโบราณคดีจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีหนิงเซี่ย และมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ขุดค้นพื้นที่ราว 2,400 ตารางเมตร พบซากโรงผลิตที่ประกอบด้วยเตาเผา 6 แห่ง รวมถึงหลุมที่คนงานเคยขุดเจาะเพื่อหาเนื้อดิน ถ่านหิน ควอตซ์ ปูนขาว ตลอดจนวัตถุดิบและเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตเครื่องเคลือบดินเผา

เซรามิกสีขาวละเอียดที่ค้นพบในสถานที่แห่งนี้มีเนื้อสัมผัสละเอียด เคลือบอุ่น ส่องประกายแวววาวและโปร่งแสง คล้ายกับที่พบในจิ่งเต๋อเจิ้น เมื่อพิจารณาจากขนาดการผลิตและเครื่องดินเผาซึ่งมีตัวอักษรคำว่ากวน (guan) ที่แปลว่าทางการ ปรากฏอยู่ เชื่อว่าเป็นเตาเผาของทางการที่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อผลิตชาม ถ้วย จาน และเครื่องใช้ประจำวันสำหรับราชวงศ์ในช่วงราชวงศ์เซี่ยตะวันตก (พ.ศ.1581-1770)

ฉินต้าซู่ ศาสตราจารย์จากคณะโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์วิทยาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า เซรามิกสีขาวดังกล่าว เป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางในช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ.1503-1670) ราชวงศ์ซ่งและเซี่ยตะวันตกเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ใกล้ชิด เป็นไปได้ว่าขุนนางจากราชวงศ์ซ่งเหนืออาจส่งช่างฝีมือชั้นยอดไปยังเซี่ยตะวันตก และช่วยผลิตเครื่องเคลือบดินเผาสีขาววิจิตรนี้

การศึกษาเครื่องเคลือบดินเผาที่ค้นพบในแหล่งเตาเผาซูอวี้โข่ว นักโบราณคดีพบว่าส่วนผสมของควอตซ์และเครื่องมือมีเทคนิคใกล้เคียงเครื่องเคลือบดินเผาควอตซ์คุณภาพสูงในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าสูตรคู่ขนาน (dual formula) ของเครื่องเคลือบจีนสามารถสืบย้อนไปจนถึงราชวงศ์เซี่ยตะวันตก และไม่ได้มีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1814-1991) ตามที่เชื่อก่อนหน้านี้

จูชุนสือ หัวหน้าสถาบันฯ ระบุว่า ดินที่ขุดพบใกล้กับเตาเผาซูอวี้โข่วมีปริมาณอะลูมิเนียมออกไซด์สูง ซึ่งทำให้ยากต่อการนำไปผลิตเครื่องเคลือบสีขาวละเอียดอ่อนได้ ช่างฝีมือจึงเติมควอตซ์ลงในดินเพื่อเพิ่มสัดส่วนของซิลิกอนไดออกไซด์และลดสัดส่วนอะลูมิเนียมออกไซด์ จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกับเครื่องเคลือบจากจิ่งเต๋อเจิ้น

ทั้งนี้ แหล่งเตาเผาซูอวี้โข่วจัดเป็นแหล่งเตาเผาของราชวงศ์เซี่ยตะวันตกซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบมาในจีน โดยหลี่เจิ้ง นักวิจัยจากสำนักบริหารมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติจีน มองว่าการค้นพบเตาเผานี้ช่วยอธิบายที่มาของเครื่องเคลือบดินเผาที่สมาชิกราชวงศ์เซี่ยตะวันตกใช้งาน และตอบคำถามที่สำคัญในแง่ประวัติศาสตร์การพัฒนาเครื่องเคลือบดินเผาของจีน

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat