กทม. จับมือภาคีเครือข่าย วางแนวทางแก้ปัญหาสุนัข-แมวจร
กทม. จับมือภาคีเครือข่าย วางแนวทางแก้ปัญหาสุนัข-แมวจร ในพื้นที่ แนะแก้ที่ต้นทาง ช่วยลดจำนวนการแพร่พันธุ์ในอนาคต
วันนี้ (29 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในเขตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ จิตอาสา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือเรื่องพิษสุนัขบ้า ซึ่งปีนี้เกิดขึ้นในพื้นที่เขตลาดกระบังกับเขตหนองจอก 12 เคส มีการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบังประมาณ 6,900 ตัว และเขตหนองจอกประมาณ 6,400 ตัว สำหรับตัวเลขคร่าว ๆ อาจมีสุนัขกับแมวจร มากกว่า 200,000 ตัว โดยที่แมวจะมีจำนวนมากเพราะสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็ว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ภาคีเครือข่ายจากหลายหน่วยงาน อาทิ The Voice Foundation สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร มูลนิธิเดอะโฮปไทยแลนด์ (The Hope Thailand) SOS Animal Thailand สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) เป็นต้น ร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจร ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งหัวใจสำคัญคือการทำหมันและการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เพราะการนำสุนัขกับแมวจรทั้งหมดมาอยู่ที่ศูนย์กักกันสัตว์ไม่สามารถทำได้เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอ กลุ่มที่นำมาอยู่ที่ศูนย์กักกันส่วนใหญ่คือกลุ่มที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ไล่กัดคน หรือสร้างความเดือดร้อนรุนแรง
สำหรับกรุงเทพมหานครมีสถานที่กักกันสัตว์ 2 แห่ง คือ ที่ประเวศสามารถรองรับสุนัขและแมวได้ประมาณ 1,000 ตัว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่คาดว่าประมาณเดือน มิ.ย. นี้จะเสร็จ และที่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี รองรับได้ประมาณ 6,000 ตัว การเก็บสุนัขหรือแมวเป็นแสนตัวไว้ที่สถานกักกันทั้งหมดไม่สามารถทำได้เพราะมีสถานที่ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแล้วปล่อยกลับสู่ชุมชน โดยที่การทำหมันจะช่วยให้จำนวนสุนัขและแมวจร จะค่อย ๆ ลดลงในอนาคต
ทั้งนี้ มีนักวิชาการที่ให้ข้อมูลว่าการมีสุนัขหรือแมวชุมชนเป็นสิ่งที่ผลักดันไม่ให้สุนัขหรือแมวจร จากที่อื่นเข้ามาแทนที่ เป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคจากสุนัขหรือแมวจร ต่างถิ่นได้ การแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งคือการรับสุนัขและแมวจากสถานกักกันสัตว์มาเลี้ยงแทนการซื้อ การแก้ปัญหาต้องทำตั้งแต่ต้นทาง ประชาชนที่จะเลี้ยงสัตว์ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องมั่นใจว่าสามารถดูแลระยะยาวได้ มีหลายคนที่เลี้ยงไม่ไหวแล้วนำมาปล่อยเป็นสุนัขและแมวจร จึงต้องช่วยกันดูแลโดยเฉพาะเรื่องการทำหมันและการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า