ธนาคารโลกและกรุงเทพมหานครเน้นย้ำแนวทางเสริมความแกร่งเมืองท่ามกลางวิกฤตความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ภาวะความร้อนในเมืองกรุงเทพฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเมือง โดยธนาคารโลกและกรุงเทพมหานครได้เปิดตัวรายงานใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่อาจทำให้กรุงเทพฯ เผชิญกับการสูญเสียชีวิตจากความร้อนมากถึง 2,300 ราย การสูญเสียค่าจ้างแรงงานกว่า 44,000 ล้านบาท และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นราว 17,000 ล้านบาทต่อปี หากไม่มีมาตรการรับมือที่เพียงพอ
รายงาน “พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” ระบุว่า ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island – UHI) กำลังทำให้กรุงเทพฯ ประสบปัญหาความร้อนที่ทวีความรุนแรงและยาวนานขึ้น โดยพื้นที่ที่มีการก่อสร้างหนาแน่นได้กลายเป็นแหล่งกักเก็บความร้อน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผลิตภาพแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หากไม่มีการรับมือที่เหมาะสมในระยะยาว กรุงเทพฯ อาจพบว่าไม่สามารถทำงานกลางแจ้งได้ และจะเกิดอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุที่อาจเผชิญความเสี่ยงสูงจากความร้อน
เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า “ความร้อนในเมืองไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน” พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า รายงานนี้เสนอแนวทางให้แก่ผู้นำและภาคธุรกิจ เพื่อช่วยให้กรุงเทพฯ สามารถปรับตัวต่อความร้อน ปกป้องประชาชนที่เปราะบางที่สุด และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินมาตรการหลายด้านร่วมกับภาครัฐและเอกชน เช่น การจัดตั้งศูนย์ทำความเย็น (cooling shelters) และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง รวมถึงการนำระบบเตือนภัยความร้อนมาใช้ เพื่อแจ้งเตือนและช่วยลดผลกระทบจากความร้อนในช่วงเวลาที่มีอุณหภูมิสูง โดยรายงานยังเสนอแนวทางการปฏิรูปเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้กรุงเทพฯ รับมือกับความร้อนในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การขยายขีดความสามารถในระบบเตือนภัย การเปิดศูนย์ทำความเย็นในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น และการบูรณาการปัญหาความร้อนเข้าสู่นโยบายการวางแผนเมือง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับความร้อนที่สามารถให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำคัญของการรับมือกับความร้อนในเมืองว่า “การเติบโตของกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีมาตรการรับมือปัญหาความร้อนในเมืองอย่างเด็ดขาด โดยผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากรายงานฉบับนี้จะเป็นแนวทางที่ดีในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนที่เปราะบางที่สุด และสร้างมหานครที่น่าอยู่และแข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง”
การศึกษายังเน้นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่นในการจัดทำมาตรการรับมือที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยกรุงเทพฯ ควรมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มที่เสี่ยงสูงและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง พร้อมทั้งจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถลดผลกระทบจากภาวะความร้อนและเตรียมความพร้อมให้กรุงเทพฯ สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น