กทม.-มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ลงนามความร่วมมือ ควบคุมการเพิ่มประชากรสุนัขแมวจรจัด
กทม. และ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ลงนาม ความร่วมมือควบคุมการเพิ่มประชากรสุนัขและแมวจรจัด
วันนี้ (25 ก.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามความร่วมมือด้านการจัดการประชากรสุนัขและแมวที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า และการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ โดยมีนายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และนายตันติกร รุ่งพัฒนะ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการประชากรสุนัขและแมว ประเทศไทย ร่วมลงนาม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
รศ.ทวิดา กล่าวว่า การจัดการและดูแลสุนัขและแมวจรจัด ต้องมีความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วย เนื่องจากมีสุนัขและแมวจรจัดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระบวนการทำงานจึงต้องคุยกันหลายฝ่าย เพราะสุนัขและแมวไม่ว่าจะจรหรือไม่ ก็คือเพื่อนที่อยู่ในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว และในแง่ของการทำงาน แต่ละขั้นตอนเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความชำนาญการเฉพาะ การร่วมมือกันอาจไม่เห็นผลในทันตา ต้องใช้เวลา1-2 ปี ถึงจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
“หวังว่าความร่วมมือระหว่าง กทม.กับมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย จะทำให้เราสามารถเพิ่มอัตรากำลัง เพิ่มความสามารถ เพิ่มรสนิยมในการทำงาน ในการดูแลสุนัขและแมว เพราะในปี 67 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติเองก็ได้ตั้งเป้าไว้แล้วในการทำหมัน ฝังชิพ ขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว ขอบคุณมูลนิธิฯ ในความร่วมมือ และ กทม.พร้อมผสานการทำงานระหว่างกันให้เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
ปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานครมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สร้างปัญหาทางด้านสาธารณสุข กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยปีงบประมาณ 2565 สำนักอนามัย ทำหมันสุนัขและแมว 18,757 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 106,217 ตัว และในปีงบประมาน 2566 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 ทำหมันสุนัขและแมว 17,330 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 110,819 ตัว ลดปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนสุนัขและแมวจรจัดลงได้บางส่วน และลดอุบัติการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จึงยังต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย จึงลงนามบันทึกดังกล่าว เพื่อควบคุมการเพิ่มประชากรสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยการผ่าตัดทำหมันสุนัขแมวจรจัดและมีเจ้าของ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ รวมถึงการให้ความรู้ คำปรึกษาและแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร