BANGKOK

‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง ‘ชัชชาติ’ ถาม ‘สวนชูวิทย์’ เป็นที่สาธารณะหรือไม่

‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง ‘ชัชชาติ’ ถาม ‘สวนชูวิทย์’ เป็นที่สาธารณะประโยชน์หรือไม่ ชี้ไม่ใช่การเปิดศึกเพราะรู้จักกันดี

วันนี้ (24 มี.ค.66) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ขอให้ผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายวินิจฉัยว่า สวนชูวิทย์ เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีสวนนายชูวิทย์ ตั้งอยู่ที่บริเวณสุขุมวิท ซอย 10 เขตวัฒนา ซึ่งเป็นของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โดยเมื่อปี 2548 นายชูวิทย์ได้ออกมาแถลงว่าจะสร้างสวนสาธารณะให้กับคนกรุงเทพฯ เพื่อเป็นปอดสำหรับคนกรุงเทพฯ และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2548 ยังได้แถลงยืนยันว่าต้องการสวนสาธารณะให้กับคนกรุงเทพฯ ในการสร้างสวนสาธารณะดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีรื้อบาร์เบียร์ บริเวณสุขุมวิทซอย 10 เมื่อปี 2546 จนในที่สุดโดยศาลฎีกา มีคำพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษจำคุกนายชูวิทย์ และพวก 2 ปี ลดจาก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ปัจจัยที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาดังกล่าว เพราะนายชูวิทย์ ได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปแล้ว และยังมีเจตนานำที่ดินพิพาทไปสร้างสวนสาธารณะให้กับคนกรุงเทพฯ ศาลจึงถือว่าเป็นเจตนาที่ดี

แต่วันนี้นายชูวิทย์ นำพื้นที่ดังกล่าวไปก่อสร้างอาคารสูงหรือโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ สมาคมฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง การแสดงเจตนารมณ์ให้ที่ดินดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะ เป็นการแสดงออกโดยปริยายไปแล้วว่า จะให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ระบุชัดเจนว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกัน แม้ว่าจะไม่ได้นำไปจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าหน้าที่ ก็ถือว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้

การนำสวนดังกล่าวกลับไปพัฒนา ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ว่าฯ กทม.ควรวินิจฉัยว่าสวนดังกล่าวเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่หรือไม่ หากผู้ว่าฯ กทม.วินิจฉัยว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ผู้ว่าฯ กทม.จะต้องเรียกคืนที่ดินดังกล่าวตามกฎหมาย หากผู้ว่าฯ กทม.วินิจฉัยว่าไม่ใช่ สมาคมฯ จะไปฟ้องศาลเพื่อให้มีคำวินิจฉัยออกมาให้เป็นที่สุด

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.จะดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ โดยได้มอบหมายให้นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ดูรายละเอียดเรื่องการขออนุญาต การจ่ายภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ รวมถึงขอคัดคำพิพากษา เนื่องจาก กทม.ไม่มีข้อมูล รวมถึงคำแถลงของนายชูวิทย์ต่อศาลด้วย สำหรับสวนชูวิทย์ไม่เกี่ยวข้องกับ กทม. ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้น คงต้องรอทางนายจักกพันธุ์สรุปเรื่อง เพราะเรื่องนี้ต้องชัดเจน ย้ำว่า กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ

นายศรีสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองกับนายชูวิทย์แซวกันไปมาโดยตลอด ไม่มีการเปิดศึก ต่างคนต่างรู้จักกันดี เมื่อถามว่ากลัวนายชูวิทย์จะแฉกลับหรือไม่ นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ข้อมูลตนเองใครอยากจะดูก็ดูเพราะเราเป็นนักร้องเรียน นักตรวจสอบ คงไม่มีประเด็นที่จะเข้าไปคุยกับนายชูวิทย์ เพราะตนเองร้องตามกฎหมายและระเบียบราชการ

แหล่งข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า สวนชูวิทย์สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2548 โดยนายชูวิทย์ดำเนินการสร้างสวนด้วยตนเอง จากการตรวจสอบข้อมูลการอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ สวนชูวิทย์ไม่ปรากฏข้อมูลหรือเอกสารการอุทิศที่ดิน ปัจจุบันไม่ได้เป็นสวนสาธารณะแล้ว มีการก่อสร้างเสาเข็ม และกำแพงกันดินแล้วเสร็จ โดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร 51 ชั้น จากสำนักการโยธา ลงวันที่ 28 กันยายน 2564 ผู้ขออนุญาตคือ บริษัท เทนธ์ อเวนิว จำกัด โดยนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนางสาวตระการตา กมลวิศิษฏ์ ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามหนังสือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat