โฆษกฯ กทม. เผย ทางเท้ามาตรฐานใหม่คืบหน้าแล้ว 774 กม.
โฆษกฯ กทม. เผย ทางเท้ามาตรฐานใหม่คืบหน้าแล้ว 774 กม. คาด ปี 69 ดำเนินการได้มากกว่า 1,000 กม. ย้ำ พัฒนาทางเท้าเชื่อมโยงรถไฟฟ้า ปลอดภัย มีเอกลักษณ์ประจำย่าน
วันนี้ (18 มี.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงทางเท้ามาตรฐานใหม่ บริเวณหน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT อิสรภาพ เขตบางกอกใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 70 คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2569
นายเอกวรัญญู กล่าวว่า ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าของกรุงเทพมหานคร 1,000 กิโลเมตร ภายใน 4 ปี ขณะนี้ดำเนินการได้กว่า 70% แล้ว โดยเดือนเมษายนนี้ จะมีทางเท้ามาตรฐานใหม่ 87 เส้นทาง รวม 774 กิโลเมตร คาดว่าปี 2569 จะได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตร
เหตุผลที่ กทม. ให้ความสำคัญในการพัฒนาทางเท้า เนื่องจากคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 58.2 ใช้วิธีเดินเท้าเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะเฉลี่ยเดินระยะทาง 800 เมตรต่อ 10 นาที และร้อยละ 31.2 ใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งแนวโน้มคนเดินเท้ามีมากขึ้น จึงมีแผนพัฒนาทางเท้าเชื่อมโยงรถไฟฟ้า ปัจจุบันมี 11 เส้นทาง 297 สถานี ระยะทางรวม 466.1 กม. ตามแนวคิด First & Last Mile เพื่อให้เดินจากที่พักไปเชื่อมรถไฟฟ้าและอื่น ๆ ได้สะดวก ปลอดภัย
การปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เชื่อมต่อพื้นที่เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางกอกน้อย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2567 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568 ใช้มาตรฐานทางเท้าใหม่ที่มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย มีฝาท่อที่ออกแบบให้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่าน ใช้พื้นผิวทางเท้าพิมพ์ลายกันลื่น เพิ่มแสงสว่าง ขยับ Street Furniture ไม่ให้กีดขวางทางเท้า
กทม. เริ่มดำเนินการปรับปรุงทางเท้ามาตรฐานใหม่ตั้งแต่ปี 2566 จำนวน 16 เส้นทาง ระยะทาง 250 กิโลเมตร ในปี 2567 จำนวน 30 เส้นทาง ระยะทาง 332 กิโลเมตร และในปี 2568 จะดำเนินการอีก 41 เส้นทาง ระยะทาง 192 กิโลเมตร โดยในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จครบทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 87 เส้นทาง รวมระยะทาง 774 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการปรับปรุงทางเท้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับปรุงทางเท้าได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตร ในปี 2569
นายเอกวรัญญู ยังกล่าวอีกว่า กทม. จะยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า คือ
1.แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องเรียนใน Traffy Fondue
2.พัฒนาปรับปรุงตามแนว BKK Trail 500 กม.
3.ภายในรัศมี 500 เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้าต้องดี
4.ปรับปรุงในเส้นทางที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่น ตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้ นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า
5.คืนสภาพจากหน่วยงานสาธารณูปโภค โดยติดตามเร่งรัดการบริหารจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้เกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า
ส่วนมาตรฐานใหม่ของทางเท้ากรุงเทพฯ 10 ข้อ คือ
1.ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
2.ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
3.เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร
4.ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่องสะดวกสบาย
5.ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล
6.เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย
7.เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
8.วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า
9.วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
10.ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น