รองผู้ว่าฯ กทม. ย้ำเทศกิจจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าต่อเนื่อง กวดขันผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า
วันนี้ (17 ก.ย. 67) เวลา 08.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต ครั้งที่ 6/2567 โดยมีสำนักเทศกิจร่วมประชุม ณ ห้องกรุงธน 3 ชั้น 5 อาคาร 2 สำนักเทศกิจ เขตธนบุรี
ที่ประชุมรายงานผลการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,500 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,409 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,091 ราย ต่อมาพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันที่ประกาศแล้ว 55 จุด คงเหลือ 52 จุด อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด คงเหลือ 16 จุด ปัจจุบันจึงคงเหลือพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 68 จุด
ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันได้มีการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยยกเลิกจุด ยุบรวมจุด และย้ายเข้าพื้นที่เอกชน ซึ่งในปี 2567 จะดำเนินการยกเลิกจุดหรือยุบรวมจุด 105 จุด ในพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าให้เข้าไปทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ ขณะนี้คงเหลือพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 381 จุด ผู้ค้า 10,986 ราย
ทั้งนี้ ผู้ค้าต้องหยุดทำการค้าทุกวันจันทร์ และร่วมกันล้างทำความสะอาดพื้นที่ทำการค้า ผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2567 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ค้าต้องมีรายชื่อตรงตามบัญชี ผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันให้ยึดตามกฎหมาย แต่ระหว่างดำเนินการให้นำหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนดมาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยเฉพาะขนาดแผงค้าและการตั้งวางจะต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย
ต่อมาที่ประชุมรายงานผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2567 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,478 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย 1,225 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 253 คัน เปรียบเทียบปรับ 57 คัน และขายทอดตลาด 80 คัน ผลดำเนินการโครงการจัดระเบียบป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 – 24 ตุลาคม 2566 จัดเก็บ 264,069 ป้าย แจ้งความดำเนินคดี 55 ราย เปรียบเทียบปรับ 6,835 ราย เป็นเงิน 19,183,600 บาท ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม 2566 – 15 กันยายน 2567 หลังปรับเป็นพินัยเป็นเงิน 2,293,500 บาท จำนวน 7,973 ป้าย
สำหรับผลการดำเนินงานตรวจจับผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ผ่านระบบ BMA AI CAMERA วันที่ 25 ตุลาคม 2566 – 13 กันยายน 2567 (หลังปรับเป็นพินัย) มีผู้กระทำผิด 2,892 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 420 ราย เปรียบเทียบปรับ 2,472 ราย เป็นเงิน 1,529,250 บาท ส่วนผลการดำเนินงานตรวจจับผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ผ่านระบบ BMA AI CAMERA ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 – 12 กันยายน 2567 มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า 113,674 ราย ออกหนังสือเชิญ 3,895 ราย มาพบเจ้าหน้าที่ 231 ราย เปรียบเทียบปรับ 185 ราย เป็นเงิน 69,228 บาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานโครงการสำรวจและประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ปี 2567 โดยสำรวจพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อันตรายที่อาจก่อให้เกิดเหตุร้ายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินแก่ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลักษณะความเสี่ยง/อันตรายของจุดเสี่ยง แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ จุดมืด/จุดเปลี่ยว, จุดรกร้าง/พื้นที่ลักลอบทิ้งขยะ, โครงสร้างวัสดุรอซ่อมแซม/ติดตั้งเพิ่มเติม, แหล่งมั่วสุม, จุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม, ประชากรหนาแน่น/พลุกพล่าน และจุดที่กำลังดำเนินการแก้ไขต่อการเกิดอุบัติเหตุ
นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่เทศกิจติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2567 ส่วนพื้นที่ทำการค้าที่เอกชนมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานครเพื่อเป็นที่สาธารณะ ให้พิจารณาจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้า รวมถึงกวดขันผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า สำรวจพื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ตลอดจนตรวจสอบซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่สาธารณะ