‘ชัชชาติ’ สั่งตรวจเข้มหนึ่งหมื่นอาคารใน กทม. รับเหตุแผ่นดินไหว
วันนี้ (16 ก.พ.66) เวลา 13.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังสัญจรสำนักการโยธา ว่า แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่เรากังวล จึงจะจัดสัมมนาในวันที่ 22 ก.พ. 66 ตามข้อกฎหมาย กรณีการก่อสร้างหลังปี 2550 จะมีกฎระเบียบการก่อสร้างรองรับแผ่นดินไหวชัดเจน แต่อาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ยังไม่มีกฎระเบียบการก่อสร้างรองรับแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตามมีการออกแบบเผื่อแรงลมไว้อยู่แล้ว เพราะแรงลมในกรุงเทพฯ และแรงแผ่นดินไหว มีลักษณะที่เป็นแรงแนวข้างคล้ายคลึงกัน
ไม่ได้หมายความว่า อาคารที่ออกแบบก่อนปี 2550 จะรับแผ่นดินไหวไม่ได้ เพราะมีโครงสร้างที่ต้องรับแรงลม ซึ่งมีลักษณะของการรับแรงคล้าย ๆ กับแผ่นดินไหว มีอยู่ประมาณ 10,000 อาคาร เบื้องต้นสั่งการให้สำนักการโยธาลองจัดกลุ่มว่า อาคารรูปแบบใดที่อาจมีความเสี่ยงมากกว่าอาคารประเภทอื่นใน 2 ลักษณะ เช่น ประเภทการใช้งานอาคารที่แบบมีความเสี่ยงในการใช้งาน ต้องใช้งานได้ในช่วงแผ่นดินไหวรุนแรง หรือลักษณะของการก่อสร้าง เช่น
อาคารที่อาจจะไม่สูงมากหรือมีเสาเข็มสั้น ต้องหาแนวทางในการปรับปรุงให้เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งให้สำรวจแนวอาคารของ กทม. เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ และอาจนำอาคารของ กทม. เป็นต้นแบบในการปรับปรุงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น หากเราจะออกกฎบังคับคนอื่น เราต้องเริ่มจากตนเองก่อน เพราะเราเข้าใจปัญหา และต้นทุนในการปรับปรุง