สำรวจความคิดเห็นหลากวัย หลายอาชีพ กับการเป็นเจ้าบ้าน เอเปค 2022
ในวันพรุ่งนี้ (16 พ.ย. 65) ชาวกรุงเทพมหานคร จะได้ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านในการการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย.นี้
The Reporters พาไปพูดคุย รับฟังมุมมองที่หลากหลายจากคนหลายวัย หลายสาขาอาชีพ เกี่ยวกับการ “เป็นเจ้าบ้านที่ดี” พร้อมสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อการประชุมครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
ปฏิบัติตามหน้าที่ตัวเองให้ดีเพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดี
จินตนา ถึกขุนทด วัย 37 ปี พนักงานรักษาความปลอดภัยบนรถไฟฟ้า ให้ข้อมูลว่า “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ก็ให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเองค่ะ คือการดูแลและให้ข้อมูลผู้โดยสาร เกี่ยวกับการใช้บริการค่ะ โดยเฉพาะสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะมีการปิดสถานีไม่ให้ผู้โดยสารขึ้นลง เราก็จะให้ข้อมูลผู้โดยสารไปลงในสถานีใกล้เคียง และนั่งรถที่จัดไว้ให้เพื่อเดินทางต่อไปทำงานได้ค่ะส่วนการประชุมเอเปคจะมีผลไหมกับเศรษฐกิจของบ้านเรา คิดว่าโดยรวมนั้นน่าจะทำให้เกิดเรื่องดีๆเรื่องการค้าขายค่ะ เพราะเป็นแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แต่โดยส่วนตัวก็ไม่รู้ว่าเป็นการระดมสมอง เกี่ยวกับเศรษฐกิจในแง่มุมใดค่ะ”
สร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรม และรอยยิ้ม
พัชรี พุ่มบางป่า วัย 40 ปี เจ้าของร้านขายของชำ ให้ข้อมูลว่า “บ้านเรามีวัฒนธรรมที่ดีหลายอย่างที่สามารถนำเสนอเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็น อย่างการแสดง หรือการรำต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมประชุมก็เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมของเรา หรือแม้แต่การกล่าวคำว่า “สวัสดีค่ะ” ก็เป็นคำทักทายที่แสดงถึงความเป็นมิตรที่จริงใจค่ะ”
พัชรี บอกว่า ส่วนตัวคิดว่าการประชุมเอเปคนี้มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน และก็หวังว่าจะมีผลต่อเนื่องและอาจทำให้สินค้าที่กินใช้ในบ้านเรามีราคาถูกลงค่ะ”
เท่ง วัย 24 ปี พนักงานจำหน่ายเครื่องดื่มสุรา ในห้างสรรพสินค้า บอกว่า “การเป็นเจ้าบ้านที่ดีนั้น คือการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมด้วยรอยยิ้ม สมมุติว่ามีเจ้าหน้ามาเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้าที่ผมทำงานอยู่ ผมก็จะต้อนรับด้วยมิตรไมตรีที่ดีด้วยรอยยิ้ม ที่แสดงถึงความจริงใจ ที่สำคัญก็จะจัดหน้าร้านให้สะอาด น่าดูและน่ามองครับ ประโยชน์ที่คิดว่าจะได้จากการประชุมเอเปคนั้น ในมุมของผมที่เป็นพนักงานขายสินค้า ก็คิดว่าอย่างน้อยๆ ก็ช่วยทำให้คนรู้จักประเทศไทย และเมืองไทยมากขึ้นครับ ซึ่งต่อจากนี้อาจจะมีคนสนใจ เข้ามาลงทุนในบ้านเราเพิ่มขึ้นครับ”
อานุภาพ ภู่ระย้า อายุ 19 นักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม ให้ข้อมูลว่า “การจะเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการประชุมเอเปค เราต้องเตรียมข้อมูลการประชุมให้พร้อมก่อนครับ โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการท่องเที่ยว เพราะบ้านเราเป็นเมืองท่องเที่ยว และยิ่งตอนนี้โควิด-19 เริ่มคลายลง ก็อยากให้การประชุมโฟกัสเรื่องนี้ด้วยครับ เพราะเป็นแหล่งที่มาของรายได้เข้าประเทศไทยด้วยครับ ที่สำคัญผมคิดว่าการประชุมเอเปคในครั้งนี้ อย่างน้อยๆก็น่าจะช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวเมืองไทย ให้กลับมาพลิกฟื้นได้อีกครั้งครับ และทำให้คนต่างชาติรู้ว่าตอนนี้ บ้านเราสามารถท่องเที่ยวได้แล้วครับ ก็จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศได้ครับ”
สิ่งที่เยาวชนอยากเห็นในช่วงเอเปค 2022
น้องมี่-มานิ ทาคากุ อายุ 16 ปี นักเรียน กศน.ระดับมัธยมปลาย ให้ข้อมูลว่า “มี่คิดว่าการเป็นเจ้าบ้านที่ดีและง่ายที่สุด คือการต้อนรับผู้อื่นด้วยมิตรภาพ เช่น การมีรอยยิ้มให้กับคนที่มาเข้าร่วมการประชุมค่ะ นอกจากนี้การจัดสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่น่าดู และน่ามองก็เป็นสิ่งสำคัญ คิดง่ายๆว่าถ้าเพื่อนมาบ้านเรา และบ้านสกปรกเพื่อนก็คงไม่อยากมาแน่นอนค่ะ และจากการดูข่าวมี่คิดว่าทางผู้จัดงานก็ทำได้ดีค่ะ ส่วนประเด็นความสำคัญจากการประชุมกับเรื่องปากท้องคนไทย มี่คิดว่ามีความสำคัญค่ะ แม้ว่าในรายละเอียดมี่ไม่รู้ว่าประชุมเรื่องเศรษฐกิจแบบไหน แต่คิดว่าถ้าเป็นการประชุมร่วมกันเรื่องเศรษฐกิจจากหลายๆประเทศ หรือเป็นการระดมสมองร่วมกัน ก็น่าจะช่วยกันทำให้ราคาของถูกลงค่ะ เพราะทุกวันของราคาแพงขึ้นมากค่ะ”
น้องอุ้ม-นิจวิภา เบือกขุนทด นักเรียนชั้น ม.3 รร.มัธยมวัดดาวคะนอง ให้ข้อมูลว่า “ การเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการประชุมเอเปคนั้น ต้องจัดการทุกอย่างได้จริง เช่น เรื่องความสะอาดอยากให้เพิ่มถังขยะให้มากขึ้น ป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงที่มีการประชุมเอเปค เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย บ้านเมืองน่ามอง”
นิรุทธ์ อายุ 17 ปีนักเรียนโรงเรียนพานิชยการแห่งหนึ่ง กล่าวว่า “ การดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้ที่เข้ามาประชุมในบ้านเรานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่ในเรื่องประโยชน์ หรือผลดีของการประชุมเอเปคต่อประเทศเรา ผมยังไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องนี้ และไม่มีข้อมูลเท่าที่ควรครับ”
หลากหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับเอเปค 2022 แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทุกคน อยากเป็นเจ้าบ้านที่ดี และหวังว่าเอเปคครั้งนี้จะนำพาสิ่งดีๆ มาสู่ประเทศไทย